แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN”ของโจทก์ร่วม กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2ซึ่งใช้อักษรโรมันคำว่า “KLOVEMANDESIGN” ประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำเหมือนกัน และใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกันเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างมีคำว่า “LOVEMAN” เหมือนกันสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าชนิดเดียวกันคือเสื้อเชิ้ต แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจะเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ที่เขียนขึ้นโดยมิได้ประดิษฐ์ เป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกอย่างเครื่องหมายการค้าของ จำเลยที่ 2 และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษร “K” และคำว่า “DESIGN” กับประดิษฐ์ตัวอักษรคำว่า “DESIGN” ให้ใหญ่กว่าคำว่า “LOVEMAN” มาก แต่ก็ปรากฏ ตามตามคำวินิจฉัย ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าอักษร “K” กับคำว่า “DESIGN” ซึ่งแปลว่า การออกแบบ เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญ ในการค้าขายซึ่งจำเลยที่ 2 ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิ ของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรและคำดังกล่าว สาระสำคัญ ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำว่า “LOVEMAN” ที่เหลืออยู่ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจะเขียน ตัวอักษรคำว่า “LOVE” ติดกับคำว่า “MAN” ส่วนเครื่องหมาย การค้าของจำเลยที่ 2 วางตัวอักษรคำว่า “LOVE” อยู่บนคำว่า “MAN” ก็ตาม แต่ก็อ่านออกเสียงว่า “เลิฟแมน” เหมือนกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมและของจำเลยที่ 2 ใช้กับสินค้าเสื้อเชิ้ตเช่นเดียวกัน ประชาชนผู้ซื้อสินค้า ดังกล่าวอาจเรียกสินค้าเสื้อเชิ้ตของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสอง ที่มีไว้เพื่อจำหน่ายว่า “เสื้อเลิฟแมน” เหมือนกัน ดังนี้ ประชาชนผู้ซื้อสินค้าย่อมเกิดความสับสนหลงผิดในความเป็น เจ้าของสินค้านั้นได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายจนนับได้ว่าเป็นการเลียนแบบ เครื่องหมายการค้าคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วมที่ได้ จดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับ จำเลยที่ 1 มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเสื้อเชิ้ตของกลาง ที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าสินค้าเสื้อเชิ้ตนั้นมีเครื่องหมายการค้า ที่เลียนแบบดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 109 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109, 110 และ 115ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายวิเชียร ทองแก้วแกม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1)ประกอบด้วยมาตรา 109 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ริบของกลาง หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “LOVEMAN” (เลิฟแมน) ซึ่งใช้กับสินค้าจำพวกที่ 38 ชนิดสินค้าเสื้อเชิ้ต ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 109955 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 2ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (เค เลิฟแมน ดีไซน์)ซึ่งใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แต่ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 309/2537ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2533 โจทก์ร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (เลิฟ แมน ดีไซน์)ซึ่งใช้อักษรโรมันประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกตามคำขอเลขที่ 206604 แต่โจทก์ร่วมได้ขาดการติดต่อกับนายทะเบียน จึงทำให้คำขอของโจทก์ร่วมดังกล่าวตกไป ต่อมาโจทก์ร่วมได้ยื่นคำขอเลขที่ 253631 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2536ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 206604 อีกโดยขอใช้กับสินค้าจำพวกที่ 38 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 รายการสินค้าเสื้อเชิ้ต เสื้อฮาวาย เสื้อยืด กางเกงขาสั้น และกางเกงขายาว ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียน คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งไม่รับจดทะเบียนของนายทะเบียน โดยเห็นว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN”ตามทะเบียนเลขที่ 109955 ของโจทก์ร่วม เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีภาคส่วนคำว่า “LOVE MAN”เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ซึ่งเป็นคำเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วคำว่า “LOVEMAN”ของโจทก์ร่วม แม้ลักษณะการประดิษฐ์จะแตกต่างกันและเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษร “K” กับคำว่า”DESIGN” ประกอบอยู่ด้วยก็ตามแต่คำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเสื้อเชิ้ตซึ่งจำเลยที่ 2ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิเป็นของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษร”K” และคำว่า “DESIGN” ไว้แล้ว ภาคส่วนคำดังกล่าวจึงไม่ใช่สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายอาจเรียกขานได้ว่า เลิฟแมน เหมือนกัน เมื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ สำหรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 253631 ของโจทก์ร่วมตามซึ่งนายทะเบียนสั่งให้รอดำเนินการจดทะเบียนไว้ก่อนเนื่องจากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2ยื่นคำขอไว้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าเมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงไม่มีเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนอยู่ในสารบบคำขอ ชอบที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้โดยไม่จำต้องพิจารณาประเด็นเหมือนหรือคล้ายให้ยกคำสั่งของนายทะเบียน และให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามคำขอเลขที่ 253631 ต่อไป ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมดังกล่าวไว้โดยออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ร่วมเมื่อวันที่13 มีนาคม 2538 แสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2536 ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม2537 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้เสื้อเชิ้ตที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจำนวน 186,000 ตัวที่บริษัทจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหา 3 ข้อ คือ (1) เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ที่ใช้กับเสื้อเชิ้ตวัตถุพยานหมาย จ.8เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายจนนับได้ว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วมหรือไม่ (2) จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าสินค้าเสื้อเชิ้ตของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วมหรือไม่ ในปัญหาข้อ 1 ที่ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองที่ใช้กับเสื้อเชิ้ตวัตถุพยานหมาย จ.8 เป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมมาเบิกความว่า เมื่อปี 2534มีชาวโปแลนด์มาสั่งซื้อสินค้าประเภทเสื้อเชิ้ตจากโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมจึงส่งสินค้าดังกล่าวออกไปยังต่างประเทศ โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “LOVEMAN” (เลิฟแมน) ที่ได้จดทะเบียนไว้ ตามทะเบียนและทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ร่วมใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 253631 เอกสารหมาย จ.15 ติดกับเสื้อเชิ้ตตามวัตถุพยานหมาย จ.9 ส่วนของจำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกติดกับเสื้อเชิ้ตของกลางตามวัตถุพยานหมาย จ.8 เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2ซึ่งใช้อักษรโรมันคำว่า “K LOVE MAN DESIGN” ประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำเหมือนกัน และใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกันเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างมีคำว่า “LOVE MAN” เหมือนกันสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าชนิดเดียวกันคือเสื้อเชิ้ต แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจะเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ที่เขียนขึ้นโดยมิได้ประดิษฐ์เป็นรูปครึ่งตัวคนสวมหมวกอย่างเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษร “K” และคำว่า “DESIGN” กับประดิษฐ์ตัวอักษรคำว่า “DESIGN” ให้ใหญ่กว่าคำว่า “LOVE MAN” มากก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 309/2537 เอกสารหมาย จ.14แผ่นที่ 4 ว่าอักษร “K” กับคำว่า “DESIGN” ซึ่งแปลว่า การออกแบบเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายซึ่งจำเลยที่ 2 ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรและคำดังกล่าว สาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำว่า “LOVE MAN” ที่เหลืออยู่ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจะเขียนตัวอักษรคำว่า “LOVE” ติดกับคำว่า “MAN” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 วางตัวอักษรคำว่า “LOVE” อยู่บนคำว่า “MAN” ก็ตาม แต่ก็อ่านออกเสียงว่า “เลิฟแมน” เหมือนกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม และของจำเลยที่ 2 ใช้กับสินค้าเสื้อเชิ้ตเช่นเดียวกัน ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวอาจเรียกสินค้าเสื้อเชิ้ตของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสองที่มีไว้เพื่อจำหน่ายว่า”เสื้อเลิฟแมน” เหมือนกัน ดังนี้ ประชาชนผู้ซื้อสินค้าย่อมเกิดความสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้านั้นได้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายจนนับได้ว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้ว
ปัญหาข้อ 2 ที่ว่า จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าสินค้าเสื้อเชิ้ตของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วมหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเคยเห็นเครื่องหมายการค้าคำว่า “LOVEMAN”ของโจทก์ร่วมและรู้อยู่แล้วว่าสินค้าเสื้อเชิ้ตของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเสื้อเชิ้ตของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าติดอยู่จำนวน 186,000 ตัว ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “LOVEMAN” ของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าสินค้าเสื้อเชิ้ตนั้นมีเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบดังกล่าวอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 109 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
พิพากษายืน