คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4982/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องจะได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส กับผู้ตาย แต่ปรากฏว่าเป็นกรณีได้รับยกให้ที่ดิน ภายหลังจากประกาศใช้ พระราชบัญญัติให้ใช้ บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 เมื่อไม่ปรากฏมี หนังสือยกให้โดยระบุให้เป็นสินสมรส ก็ต้องถือว่า เป็นการยกที่ดินให้เป็นสินส่วนตัวแก่ผู้ร้อง ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) การที่ผู้ร้องเป็นภริยาของผู้ตายซึ่งเป็นหนี้ โจทก์ตามคำพิพากษาอันเป็นความรับผิดในฐานะ ทายาทผู้รับมรดกของผู้ตายซึ่งจะต้องรับผิด ในหนี้สินดังกล่าวต่อโจทก์เมื่อผู้ร้องได้รับมรดก ของผู้ตายเท่านั้น เมื่อผู้ร้องไม่ได้รับมรดกและ โจทก์ก็มิได้ฟ้องผู้ร้องให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา โจทก์เพิ่งมานำสืบ ในชั้นร้องขัดทรัพย์ว่าผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์ไปใช้จ่าย ในครอบครัวและเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จะให้ฟังว่าผู้ร้องต้องรับผิดในฐานะที่เป็นหนี้ร่วม ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายหาได้ไม่ ตามคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ของผู้ร้อง ผู้ร้องได้บรรยายให้ปรากฏชัดแล้วว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดคดีนี้ ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตายทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องแต่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องและ ต. ร่วมกันแสดงว่าผู้ร้องได้อ้างแล้วว่าทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องมิใช่เป็นผู้รับมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องในฐานะทายาทก็ไม่ต้องรับผิด ต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยกคำร้องของ ผู้ร้องโดยอ้างว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อย ทรัพย์พิพาทจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นภริยาและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตร และทายาทผู้รับมรดกของนายอนันต์ คุรุวิจักษณ์ ผู้ตาย ใช้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่นายอนันต์กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายอนันต์ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 407 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 39/1มีชื่อจำเลยที่ 1 และนายแต้ม ทองกวาว เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองร่วมกัน
ผู้ร้อง (จำเลยที่ 1) ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดนั้น มิใช่เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายอนันต์ผู้ตายและผู้ตายก็มิได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแต่เป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องและนายแต้มเป็นเจ้าของร่วมกัน ขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและผู้ตายทำมาหาได้ร่วมกันและครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันมาในฐานะสามีภริยา แต่อย่างไรก็ตามหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ที่ผู้ตายนำไปใช้จ่ายในครอบครัว ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนายแต้ม ทองกวาว โดยนายแต้มได้แจ้งการครอบครองที่ดินไว้ตั้งแต่ปี 2498 ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ต่อมาประมาณปี 2521 นายแต้มให้ผู้ร้องไปดำเนินการออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) โดยใส่ชื่อนายแต้มกับผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินร่วมกัน ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับนายอนันต์ผู้ตายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2516
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาระหว่างที่ผู้ร้องเป็นสามีภริยากับผู้ตาย ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายหรือเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ปัญหาดังกล่าว ผู้ร้องเบิกความว่า นายแต้มได้ใส่ชื่อผู้ร้องใน น.ส.3 ก. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินร่วมกับนายแต้ม เนื่องจากเกรงว่าเมื่อนายแต้มแก่แล้ว ผู้ร้องจะไม่ยอมเลี้ยงดู จึงยังคงใส่ชื่อนายแต้มเป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นการแสดงว่านายแต้มมีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้ผู้ร้องในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้รับยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนายแต้มเมื่อปี 2521 โดยเสน่หา ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะได้มาในระหว่างสมรสกับผู้ตาย แต่ปรากฏว่าเป็นกรณีได้รับยกให้ที่ดินภายหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 เมื่อไม่ปรากฏมีหนังสือยกให้โดยระบุให้เป็นสินสมรสก็ต้องถือว่าเป็นการยกที่ดินให้เป็นสินส่วนตัวแก่ผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทคือบ้านเลขที่ 39/1 ผู้ร้องนำสืบว่านายแต้มเป็นผู้จัดการปลูกให้ และโจทก์ก็มิได้สืบให้เห็นว่าผู้ตายกับผู้ร้องร่วมกันปลูกบ้านดังกล่าว จึงฟังได้ว่านายแต้มปลูกบ้านหลังนี้ยกให้แก่ผู้ร้องเช่นเดียวกัน การที่ผู้ร้องเป็นภริยาของผู้ตายซึ่งเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาอันเป็นความรับผิดในฐานะทายาทผู้รับมรดกของผู้ตายซึ่งจะต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวต่อโจทก์เมื่อผู้ร้องได้รับมรดกของผู้ตายเท่านั้น เมื่อผู้ร้องไม่ได้รับมรดกและโจทก์ก็มิได้ฟ้องผู้ร้องให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา โจทก์เพิ่งมานำสืบในชั้นร้องขัดทรัพย์ว่าผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์ไปใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จะให้ฟังว่าผู้ร้องต้องรับผิดในฐานะที่เป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3หาได้ไม่ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏว่า ผู้ร้องไม่ได้ยกเหตุในกรณีที่จำเลยที่ 1 (ผู้ร้อง)ไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดกใด ๆ ของผู้ตาย ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดในคดีนี้นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ของผู้ร้องแล้ว ได้ความว่า คำร้องของผู้ร้องได้บรรยายให้ปรากฏชัดแล้วว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดคดีนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตาย และมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องแต่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องและนายแต้มร่วมกัน จึงเห็นได้ว่า ผู้ร้องได้อ้างแล้วว่าทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องมิใช่เป็นผู้รับมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องในฐานะทายาทก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้องโดยอ้างว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา รูปคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่า ผู้ตายมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดนั้น แต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องโจทก์หามีสิทธิยึดทรัพย์รายนี้ไม่
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share