คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ป.ได้แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็นแปลงย่อยประมาณ300 แปลงเพื่อขาย และได้สร้างโรงภาพยนตร์โดยมีทางพิพาท อยู่ด้านข้างทั้งสองด้านของโรงภาพยนตร์และอยู่หน้าอาคาร ของโจทก์ทั้งสิบสี่แสดงโดยชัดแจ้งว่า ป.จัดทำทางพิพาทเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนเพชรเกษมอันเป็นทางสาธารณะเป็นการแสดงออกโดยปริยายแล้วว่า ป.เจตนาจัดให้มีสาธารณูปโภค คือทางพิพาท ถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515ข้อ 30 แม้ ป. จะมิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ก็ไม่ทำให้การดำเนินการ ของ ป. กลับไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายไปแต่อย่างใดไม่ ส่วนการจัดสรรที่ดินอันฝ่าฝืนต่อประกาศของ คณะปฏิวัติดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมายเป็นประการอื่นอย่างไรบ้าง เป็นอีกกรณีหนึ่ง ฉะนั้นทางพิพาทจึงเป็นภารจำยอมแก่ที่ดิน ของโจทก์ทั้งสิบสี่โดยผลของกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 โดยนายปรีชา ประวิชัย ดำเนินการจัดสรรขายแก่ประชาชนเมื่อปี 2523 ใช้ชื่อว่าศูนย์การค้าเกียรติ์พร จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33911 โดยซื้อมาจากนายปรีชาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 รวมทั้งในส่วนที่เป็นทางพิพาทซึ่งเป็นทางเข้าออกของโจทก์ทั้งสิบสี่และชาวบ้านสู่ถนนเพชรเกษม กว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร ทั้งสองด้านโดยแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 โจทก์ทั้งสิบสี่และชาวบ้านใช้ทางพิพาทเพื่อเข้าออกสู่ถนนเพชรเกษม โดยสงบเปิดเผยเป็นเวลากว่า 10 ปี นายปรีชาได้ทำทางพิพาทขึ้นเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ทั้งสิบสี่และชาวบ้าน ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และเป็นสาธารณูปโภคตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ต่อมาปี 2527 นายปรีชาถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาห้ล้มละลาย ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ต้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 ส่วนที่เป็นถนนออกขายทอดตลาดโดยยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่เป็นทางพิพาทโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางภารจำยอมหรือทางสาธารณประโยชน์ และการโอนไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน จึงต้องห้ามตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ต่อมาปี 2536 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างห้องน้ำบนทางพิพาททั้งสองด้านและยังให้จำเลยที่ 2 นำเสาไฟฟ้ามาปักบนทางพิพาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังให้บริวารนำเศษอิฐ เศษหิน เศษขยะและเศษกระจกมาทิ้งบนทางพิพาท ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 นำแผงเหล็กมาวางกั้นและสร้างเสาเหล็กพร้อมที่กั้นทั้งสองด้านทำให้โจทก์ทั้งสิบสี่ไม่ได้ใช้ทางพิพาทตามปกติและได้รับความเสียหายขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนทางพิพาทกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร ทั้งสองด้าน ในที่ดินโฉนดเลขที่ 33911 และให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสี่ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ห้องละ 2,000 บาท ต่อเดือน รวม 18 ห้อง เป็นเงินเดือนละ 36,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสิ่งกีดขวางอื่น ๆ พร้อมปรับสภาพทางพิพาทให้โจทก์ทั้งสิบสี่ใช้ได้ตามปกติ ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนทางพิพาทและนำสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกจากทางพิพาทพร้อมทั้งปรับสภาพทางพิพาทให้อยู่ในสภาพปกติโดยให้จำเลยที่ 1 เสียค่าใช้จ่ายเองหากไม่ดำเนินการให้โจทก์ทั้งสิบสี่ทำแทนโดยให้จำเลยที่ 1 เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 100,000 บาท ให้จำเลยที่ 2รื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปจากทางพิพาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33911 พร้อมโรงภาพยนตร์กิตติพรราม่า โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 ทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวทางด้านข้างของโรงภาพยนตร์สำหรับให้ประชาชนที่มาดูภาพยนตร์ใช้เป็นทางเดิน โจทก์ทั้งสิบสี่และชาวบ้านไม่ได้ใช้ทางพิพาทจนได้ภารจำยอมโดยอายุความจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินมารวมทั้งทางพิพาทจากการขายทอดตลาดทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 มีสิทธินำเสาไฟฟ้ามาปักและนำเสาเหล็กและแผงเหล็ม มาวางได้เพราะทางพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 นายปรีชาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ทางพิพาทจึงไม่เป็นภารจำยอม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสิบสี่ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 5 ถึงแก่กรรม นายลี่ชิน แซ่ซี ทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 5 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายลี่ชิน แซ่ซี เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 5 และจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมโดยให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางพิพาทให้เป็นทางภารจำยอมหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาและให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนห้องน้ำส่วนที่รุกล้ำ เสาเหล็ก แผงเหล็กและเสาไฟฟ้าออกไปจากทางพิพาท และปรับสภาพทางพิพาทให้อยู่ในสภาพใช้ได้ตามปกติ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เดือนละ 2,000 บาท โจทก์ที่ 3 เดือนละ 4,000 บาท โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 10 คนละ 2,000 บาทต่อเดือน โจทก์ที่ 11 เดือนละ 4,000 บาท โจทก์ที่ 12 เดือนละ 2,000 บาท โจทก์ที่ 13 เดือนละ 4,000 บาท โจทก์ที่ 14 เดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 รื้อถอนห้องน้ำที่รุกล้ำ เสาเหล็กแผงเหล็กและเสาไฟฟ้าออกไปจากทางพิพาท พร้อมทั้งปรับสภาพทางพิพาทให้อยู่ในสภาพปกติคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อปี 2523 นายปรีชา ประวิชัย ได้จัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ใช้ชื่อโครงการว่าศูนย์การค้าเกียรติ์พร โดยใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ มีการแบ่งแยก 9 ครั้งรวมประมาณ 300 แปลง นายปรีชาได้สร้างโรงภาพยนตร์ในบริเวณศูนย์การค้าด้วยโจทก์ทั้งสิบสี่ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ของศูนย์การค้าเกียรติ์พรที่นายปรีชาจัดสรรด้านหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งสิบสี่คือทางพิพาท กว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร อาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งสิบสี่และผู้อื่นในบริเวณดังกล่าวหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางระหว่างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวเป็นโรงภาพยนตร์ ทางพิพาทจึงอยู่ข้างโรงภาพยนตร์ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาตามผังบริเวณโครงการเอกสารหมาย จ.30 ต่อมานายปรีชาเจ้าของโครงการศูนย์การค้าเกียรติ์พรถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นบุคคลล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าไปจัดการทรัพย์สินของนายปรีชาโดยให้จำเลยที่ 1 เช่าโรงภาพยนตร์ไปดำเนินการหาผลประโยชน์ ต่อมาปี 2531 มีการขายทอดตลาดทรัพย์ของนายปรีชา จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อโรงภาพยนตร์พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 33911 ได้ ทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 33911 ที่ดินโฉนดดังกล่าวแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 หลังจากจำเลยที่ 1 ซื้อทอดตลาดที่ดินพร้อมโรงภาพยนตร์ดังกล่าวแล้ว ต่อมาเดือนธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้สร้างห้องน้ำของโรงภาพยนตร์บนทางพิพาททั้งสองด้านนำเสาไฟฟ้ามาปักบนทางพิพาทและสร้างเสาเหล็กและนำแผงเหล็กมาปิดกั้นทางพิพาท โจทก์ทั้งสิบสี่จึงนำรถยนต์เข้าออกในทางพิพาทไม่ได้ จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางภารจำยอม โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่านายปรีชามิได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 33911 โดยมีเจตนาให้ทางพิพาทเป็นสาธารณูปโภค ทั้งนายปรีชามิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน โดยถูกต้องตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 จึงไม่มีฐานะเป็นผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่นายปรีชาได้แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็นแปลงย่อยประมาณ 300 แปลง เพื่อขายและได้สร้างโรงภาพยนตร์โดยมีทางพิพาทอยู่ด้านข้างทั้งสองด้านของโรงภาพยนตร์และอยู่หน้าอาคารของโจทก์ทั้งสิบสี่ตามผังบริเวณโครงการศูนย์การค้าเกียรติ์พร เอกสารหมาย จ.30 เช่นนี้แสดงโดยชัดแจ้งว่านายปรีชาจัดทำทางพิพาทเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนเพชรเกษมอันเป็นทางสาธารณะเป็นการแสดงออกโดยปริยายแล้วว่านายปรีชาเจตนาจัดให้มีสาธารณูปโภค คือทางพิพาท ถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30 แม้นายปรีชาจะมิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ก็ไม่ทำให้การดำเนินการของนายปรีชากลับไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายไปแต่อย่างใดไม่ ส่วนการจัดสรรที่ดินอันฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมายเป็นประการอื่นอย่างไรบ้างเป็นอีกกรณีหนึ่ง ฉะนั้นทางพิพาทจึงเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โดยผลของกฎหมายดังกล่าว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share