คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3989/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 88(3) กรณีเช่นนี้ จำเลยที่ 1 ผู้ต้องเสียภาษีเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินและผูกพันจำเลยที่ 1 ให้ต้องชำระค่าภาษีตามการประเมิน แต่จะนำหนี้ของจำเลยที่ 1ดังกล่าวมาใช้ยันแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ถูกประเมินด้วยหาได้ไม่ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1ด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโต้แย้งได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้อง และหากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1มีภาษีซื้อในเดือนภาษีกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 ก็ย่อมมีสิทธินำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมโดยอ้างว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องอย่างไร ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์เท่าใดไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะเหตุใด ทั้งไม่ได้บรรยายถึงขั้นตอนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์ เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน เจ้าพนักงาน ประเมินจึงประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ถูกต้องอย่างไรได้มีการแจ้งผลการประเมินให้จำเลยที่ 2ทราบเพื่อให้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินหรือไม่ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ 11,125,798.64 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,879,962.02 บาท นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2539และ 60,480 บาท นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่เกินหนี้ภาษีค้าง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2538เป็นจำนวน 48,742.68 บาท และเดือนมีนาคม 2538 เป็นจำนวน139,184.13 บาท โดยคำนวณภาษีขายตามใบกำกับภาษีขาย และภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซื้อประจำเดือนดังกล่าวถูกต้องแล้วโจทก์ไม่เคยมีหนังสือเรียกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปทำการไต่สวนให้รับผิดในเงินค่าภาษีดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2จึงทราบว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำเอกสารรายงานภาษีซื้อรายงานภาษีขาย ใบกำกับภาษีซื้อ และใบกำกับภาษีขายสำหรับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 ไปให้โจทก์ตรวจสอบ ปรากฏว่าเอกสารของจำเลยที่ 1 ถูกต้อง และผู้ประกอบการอื่นได้เรียกเก็บภาษีซื้อไปแล้วแต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 250,992 บาท นั้น จำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระให้แก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินค่าภาษีจำนวน 11,125,798.64 บาท แก่โจทก์พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของค่าภาษีจำนวน 1,126,076.22 บาท และ 3,753,885.80 บาท นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2539 และค่าภาษีจำนวน 60,480 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่เงินเพิ่มแต่ละจำนวนเมื่อรวมกับเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ตามแต่กรณีแล้วมิให้เกินจำนวน 1,126,076.22 บาท 3,753,885.80 บาทและ 60,480 บาท ตามลำดับ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในเงินค่าภาษีจำนวน 11,025,098.85 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของค่าภาษีจำนวน1,084,597.54 บาท และ 3,750,385.79 บาท นับแต่วันที่ 16กรกฎาคม 2539 และค่าภาษีจำนวน 60,480 บาท นับแต่วันที่ 16กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มแต่ละจำนวนเมื่อรวมกับเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 ตามแต่กรณีแล้วมิให้เกินจำนวน 1,084,597.54 บาท 3,750,385.79 บาท และ60,480 บาท ตามลำดับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจำนวน 250,992 บาท แก่โจทก์ ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 47 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 และ 37แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกห้างจำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2538 จำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2538 ต่อมาวันที่9 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โดยให้นายชัยยงค์ ศุภกิจ เข้าเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 3 นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนให้ในวันเดียวกันแต่ปรากฏว่านายชัยยงค์ ศุภกิจ ถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 6ธันวาคม 2538 แล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2539 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของโจทก์ได้ออกตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2539เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มจำเลยที่ 1 สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 ให้จำเลยที่ 1 นำบัตรประจำตัวประชาชนบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหุ้นส่วนผู้จัดการ บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของห้างพร้อมทั้งหลักฐานการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม บัญชีและรายงานตามประมวลรัษฎากร หลักฐานเอกสารประกอบการลงบัญชีและรายงานสำหรับเดือนภาษีดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียกเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 120 จำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกดังกล่าวโดยชอบแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 แผ่นที่ 36 และ 37 โดยได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 และ 37จำเลยที่ 2 จะมีสิทธิโต้แย้งการประเมินดังกล่าวว่าไม่ชอบได้หรือไม่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 88/5 บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88 หรือมาตรา 88/1 แล้ว ให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 88/1 ในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 88/1 จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินเพราะเหตุตามมาตรา 88(3) ห้ามมิให้อุทธรณ์” คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88(3) เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้ต้องเสียภาษีเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินและผูกพันจำเลยที่ 1 ให้ต้องชำระค่าภาษีตามการประเมิน แต่จะนำหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาใช้ยันแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ถูกประเมินด้วยหาได้ไม่การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโต้แย้งได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 36 และ 37 ไม่ถูกต้อง และหากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1มีภาษีซื้อในเดือนภาษีกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 ก็ย่อมมีสิทธินำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อแรกมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมโดยอ้างว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องอย่างไร ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์เท่าใด ไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะเหตุใดทั้งไม่ได้บรรยายถึงขั้นตอนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่ถูกต้องอย่างไร ได้มีการแจ้งผลการประเมินให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินหรือไม่ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 ไม่ถูกต้อง คงมีภาษีซื้อของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2สามารถนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2538 ตามใบกำกับภาษีเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 59และ 60 เป็นเงิน 41,478.68 บาท ในเดือนภาษีมีนาคม 2538ตามใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 36 เป็นเงิน 3,500.01 บาท ตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยเท่านั้น
พิพากษายืน

Share