คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3371/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า หลังจากโจทก์และบุคคลอื่นซื้อที่ดินจากจำเลยแล้ว โจทก์กับบริวารและบุคคลอื่นใช้ทางภารจำยอมและทางจำเป็นตามพื้นสีแดงเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นทางพิพาททั้งแปลง โดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะเรื่อยมา ต่อมาจำเลยได้ทำประตูรั้วโลหะขึ้นบนทางภาระจำยอมและทางจำเป็น กับนำโซ่มาคล้องประตูและปิดล็อกใส่กุญแจ จนทางพิพาทถูกปิดกั้น ทำให้โจทก์กับบริวารไม่สามารถใช้ประโยชน์ถนนทางพิพาทได้ ดังเดิมฟ้องโจทก์แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ที่ดินโจทก์ และบุคคลอื่นถูกที่ดินแปลงอื่นที่จำเลยแบ่งแยกออกนั้นล้อมไว้ โดยรอบ ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ คงมีทางออกทางเดียวคือทางพิพาทที่จำเลยปิดกั้น ทางพิพาทจึงเข้าลักษณะเป็นทางจำเป็นทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ระบุขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนประตูรั้วโลหะหรือสิ่งปลูกสร้างในทางถนน และทำให้ทางถนนนั้นกลับคืนดีในสภาพเดิมเพื่อให้โจทก์และบริวารใช้ ทางถนนนั้นได้อีกต่อไป การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นไม่เป็นการเกินคำขอ เมื่อความประสงค์ของจำเลยตั้งแต่เดิมยินยอมให้เจ้าของ ที่ดินข้างเคียงรวมทั้งโจทก์ใช้ทางพิพาททางกว้าง 5 เมตร และจำเลยยินยอมจดทะเบียนให้ที่ดินของจำเลยแปลงคงเหลือ ทั้งแปลงเป็นภาระจำยอมในเรื่องทางเดินทางรถยนต์กับประปา และสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าของที่ดินบางรายในบริเวณ นั้นใช้เป็นทางเดินผ่านสู่ทางสาธารณะ ดังนั้น การให้ใช้ กว้าง 5 เมตร จึงถือว่าเป็นการใช้พอสมควรแก่ความจำเป็นที่ โจทก์กับบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะผ่านทางพิพาทให้เกิดความ เสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุดในสภาพเป็นถนนให้โจทก์กับบริวาร ใช้รถยนต์แล่นผ่านทางพิพาทได้เข้าออกได้โดยสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม จำเลยฎีกาว่า ค่าทดแทนเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์ กับจำเลยซึ่งจะต้องช่วยกันทำถนนทางพิพาทออกสู่ซอยสาธารณะ แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็บังคับได้ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ แต่ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าทดแทน เนื่องจากโจทก์ได้ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลย ฎีกาของจำเลย ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4804 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา จำเลยดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 9 แปลง เพื่อขายให้แก่บุคคลทั่วไป คือที่ดินโฉนดเลขที่ 14421 ถึง 14427เลขที่ 5342 และเลขที่ 4804 (แปลงคง) ต่อมาปี 2532 และ2536 จำเลยได้ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 14424 ขายให้แก่โจทก์การแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์และบุคคลอื่นที่ซื้อจากจำเลยตกอยู่ในที่ล้อม ไม่มีทางออกสู่สาธารณะได้นอกจากต้องผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 4804 (แปลงคง)ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยขณะที่จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์และบุคคลอื่น จำเลยตกลงให้โจทก์กับบุคคลอื่น ๆ ที่ซื้อที่ดินจากจำเลยดังกล่าวใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4804 กว้าง 5 เมตรตลอดแนวเป็นทางเข้าออกไปสู่ทางสาธารณะปรากฏตามทางถนนพื้นที่สีแดงในรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้อง ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4804ดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอมและทางจำเป็นโจทก์และบริวารรวมทั้งบุคคลอื่นใช้ทางภาระจำยอมและทางจำเป็นดังกล่าวโดยใช้รถยนต์เข้าออกไปสู่ทางสาธารณะเรื่อยมาด้วยความสะดวก ต่อมาในปี 2533จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยทำประตูรั้วโลหะขึ้นบนถนนซึ่งเป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็น ในปลายปี 2537 กับในเดือนพฤษภาคม 2538 และอีกหลายครั้งจำเลยนำโซ่มาคล้องประตูและปิดล็อกกุญแจ ทำให้ถนนถูกปิดกั้น เป็นเหตุให้โจทก์พร้อมบริวารไม่สามารถใช้ประโยชน์ถนนดังกล่าวได้ดีเช่นเดิม ขอให้ศาลพิพากษาว่าทางถนนพื้นที่สีแดงตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้อง ที่ดินโฉนดเลขที่ 4804 กว้าง 5 เมตร ตลอดแนวเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 14424 ของโจทก์ ให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าว หากไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน กับให้จำเลยรื้อถอนประตูรั้วโลหะหรือสิ่งปลูกสร้างในทางถนนตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้อง ทำให้ถนนดังกล่าวกลับดีในสภาพเดิม หากจำเลยไม่กระทำการให้โจทก์จัดการรื้อถอนเองได้ โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปกีดขวางหรือรบกวนการใช้ถนนของโจทก์และบริวารอีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า หากโจทก์จะใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลย โจทก์ต้องใช้ตามความเหมาะสมความกว้างไม่เกิน 2 เมตร ไม่ใช่กว้าง 5 เมตร ซึ่งทางดังกล่าวจำเลยลงทุนทำเป็นถนนไว้แล้ว โจทก์ต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ถนนในที่ดินของจำเลยเป็นเงิน 100,000 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระให้แก่จำเลย จึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลง ขอให้ยกฟ้อง และขอฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนในการที่โจทก์ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 2 เมตร จากที่ดินของโจทก์ออกสู่ถนนสาธารณะซอยเจริญพัฒนาเป็นเงิน 100,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ไม่ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 5 เมตรในที่ดินโฉนดเลขที่ 4804 เลขที่ดิน 686 ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก โดยเริ่มจากบ้านโจทก์ไปทางทิศตะวันตกจดถนนเจริญพัฒนาให้โจทก์และบริวารมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวได้ตลอดไปโดยไม่ต้องใช้ค่าทดแทน ห้ามจำเลยและบริวารกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ทางดังกล่าวลดหรือเสื่อมความสะดวกไปอีกโดยจำเลยไม่จำต้องรื้อถอนประตูรั้วโลหะ แต่ให้อยู่ในสภาพที่ลงกลอนประตูสามารถเปิดปิดได้สะดวก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4804 ตามฟ้องเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา เมื่อปี 2525 จำเลยได้ขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 9 แปลง คือโฉนดที่ดินเลขที่ 14421ถึง 14427 และโฉนดเลขที่ 5342 โฉนดเลขที่ 4804 (แปลงคง)ต่อมาปี 2532 และปี 2536 จำเลยได้ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่5342 และเลขที่ 14427 ออกเป็นอีก 2 แปลง รวมเป็นที่ดิน 11 แปลง เมื่อแบ่งแยกแล้วจำเลยได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นหลายแปลง กับขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14424 ให้แก่โจทก์การแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจำเลยตกลงให้โจทก์ใช้ทางตามเส้นสีชมพูในรูปแผนที่เป็นทางถนนยาวประมาณ 180 เมตร จากทางด้านทิศตะวันออกจดด้านทิศตะวันตกไปสู่ถนนสาธารณะ เมื่อเดือนมีนาคม2535 หลังจากที่โจทก์เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์ใช้รถยนต์เป็นพาหนะเข้าออกผ่านทางพิพาทดังกล่าวเมื่อปี2534 จำเลยได้เปลี่ยนประตูไม้ตรงปากทางถนนเป็นประตูเหล็กแต่เปิดประตูเพียง 1 บาน ต่อมาเมื่อปี 2537 จำเลยปิดประตูดังกล่าวและลงกลอนทุกบานทำให้โจทก์และคนในครอบครัวเข้าออกไปสู่บ้านที่พักอาศัยลำบาก โดยต้องเปิดประตูเหล็กและถอดกลอนที่ใส่ไว้ออก แล้วจึงเปิดประตูได้ และจำเลยนำโซ่เหล็กคล้องใส่ประตูไว้ ตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาจำเลยยินยอมให้เอาโซ่นั้นออกไป แต่ประตูยังคงใส่กลอนเหมือนเดิม โจทก์ไม่เคยตกลงใช้ค่าทดแทนในการใช้ทางพิพาทให้แก่จำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์นั้นเป็นการนอกฟ้องเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ข้อ 4มีข้อความว่า หลังจากโจทก์และบุคคลอื่นซื้อที่ดินจากจำเลยแล้วโจทก์กับบริวารและบุคคลอื่นใช้ทางภาระจำยอมและทางจำเป็นทั้งแปลง โดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะเข้าออกทางดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะเรื่อยมาด้วยความสะดวก จนกระทั่งในปี 2533 จำเลยได้ทำประตูรั้วโลหะขึ้นบนทางถนนดังกล่าวตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 อันเป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็น และในปลายปี 2537กับเดือนพฤษภาคม 2538 และอีกหลายครั้งจำเลยนำโซ่มาคล้องประตูและปิดล็อกใส่กุญแจ ทางพิพาทถูกปิดกั้นทำให้โจทก์กับบริวารไม่สามารถใช้ประโยชน์ถนนทางพิพาทได้ดังเดิมนั้น จากข้อความในฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ที่ดินโจทก์และบุคคลอื่นถูกที่ดินแปลงอื่นที่จำเลยแบ่งแยกออกนั้นล้อมไว้โดยรอบไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ คงมีทางออกทางเดียวคือ ทางพิพาทที่จำเลยปิดกั้นโดยมิให้โจทก์ใช้ทางได้สะดวกทางพิพาทตามเอกสารท้ายฟ้อง จึงเข้าลักษณะเป็นทางจำเป็น ทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ระบุขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนประตูรั้วโลหะหรือสิ่งปลูกสร้างในทางถนนตามเอกสารท้ายฟ้อง และทำให้ทางถนนนั้นกลับคืนดีในสภาพเดิมเพื่อให้โจทก์และบริวารใช้ทางถนนนั้นได้อีกต่อไป ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้วพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทนั้นชอบแล้วไม่เกินคำขอ
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นกว้าง5 เมตรนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุด ซึ่งจำเลยและบริวารใช้ทางพิพาทเพียง2 เมตรเท่านั้น โจทก์ต้องใช้ทางพิพาทกว้าง 2 เมตร เท่าที่จำเลยใช้ดังกล่าว ซึ่งนับว่าเป็นความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุดนั้นเห็นว่า จากคำพยานโจทก์และเอกสารการจดทะเบียนภาระจำยอมแสดงให้เห็นความประสงค์ของจำเลยตั้งแต่เดิมว่ายินยอมให้เจ้าของที่ดินบริเวณนั้น รวมทั้งโจทก์ใช้ทางพิพาททางกว้าง5 เมตร มิใช่ 2 เมตร ตามที่จำเลยอ้าง เพราะตามสภาพที่ตั้งของที่ดินบริเวณนั้นกับทางถนนในที่ดินจำเลยแปลงพิพาทก็มีความกว้างประมาณ 5 เมตร อยู่แล้วตามที่เจ้าพนักงานรังวัดได้เบิกความ กับจำเลยยินยอมจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4804ทั้งแปลงเป็นภาระจำยอมในเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์กับประปาและสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าของที่ดินบางรายในบริเวณนั้นใช้เป็นทางเดินผ่านสู่ทางสาธารณะ การให้ใช้กว้าง 5 เมตรนั้นถือว่าเป็นการใช้พอควรแก่ความจำเป็นที่โจทก์กับบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะผ่านทางพิพาทให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุดในสภาพเป็นถนนให้โจทก์กับบริวารใช้รถยนต์แล่นผ่านทางพิพาทได้เข้าออกได้โดยสะดวก ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคสาม ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ทางพิพาทมีความกว้าง 5 เมตร ยาวตลอดแนว ตามรูปแผนที่หมาย จ.3 แผ่นที่ 2 โดยเริ่มจากบ้านโจทก์ไปทางทิศตะวันตกจดถนนเจริญพัฒนาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ค่าทดแทน 100,000 บาท ตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้นเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งจะต้องช่วยกันทำถนนทางพิพาทออกสู่ซอยเจริญพัฒนา แม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็บังคับได้ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิเพราะเป็นข้อตกลงต่างจากกฎหมายที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่จำเลยและถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยระบุขอให้บังคับให้โจทก์ใช้ค่าทดแทน เนื่องจากโจทก์ได้ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยแต่ฎีกาของจำเลยอ้างว่าจำนวนเงิน 100,000 บาท ตามฟ้องแย้งเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งตกลงกันต้องช่วยออกเงินค่าทำถนนจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share