คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3342/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มิได้ให้บทนิยามอธิบายความหมายของคำว่า โครงสร้างอาคาร ไว้แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิศวกรรมก่อสร้างและเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ตาม โครงสร้างอาคารหมายถึงส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารซึ่งได้แก่ ฐานราก เช่นคานคอดิน ตอม่อ เสา หรือส่วนกลางของอาคาร เช่น คานพื้น หรือส่วนบนของอาคาร เช่น โครงหลังคา หลังคา เป็นต้น คานลอยแม้มิได้เชื่อมติดกับเสา แต่ก็มีไว้สำหรับรองรับน้ำหนักและกำลังต้านทานเช่นเดียวกับคานโครงสร้างนับได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคาร จึงเป็นโครงสร้างของอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522เมื่อจำเลยกระทำต่อลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วนน้ำหนัก หรือเนื้อที่แห่งโครงสร้างของอาคารและเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่มิให้ถือว่าเป็นการตัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2528) ข้อ 1(1)ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4 และมาตรา 5(3) การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และการที่จำเลยเปลี่ยนโครงหลังคาจากไม้เป็นเหล็ก ย่อมเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยมิได้ใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม ซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 1(1) แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวการกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยดัดแปลงอาคารอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจดำเนินการมีคำสั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ตามมาตรา 40(2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522คำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบด้วยกฎหมายและเมื่อจำเลยฝ่าฝืนจึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้วแม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้มีคำสั่งให้จำเลยแก้ไขแบบแปลนและเพิ่มรายการคำนวณตามที่จำเลยแจ้งขอดัดแปลงอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ก็ตาม ก็หาทำให้คำสั่งห้ามที่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นคำสั่งห้ามที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21, 40, 65, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสองมาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำคุก 1 เดือน ปรับ10,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่12 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้อาคาร ทั้งอาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาทนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องโทษจำคุกจึงให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทุบ สกัดความคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นที่ 2 ที่ 3 ของอาคารโรงแรมบรรทมเกษมออกแล้วเทคอนกรีตใหม่ กับเปลี่ยนแปลงหลังคาคลุมพื้นชั้นที่ 5 จากโครงหลังคาไม้เป็นโครงหลังคาเหล็ก โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2536เวลากลางวัน จำเลยผู้เป็นเจ้าของอาคารโรงแรมบรรทมเกษมได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามมิให้จำเลยใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารหรือบริเวณที่ดัดแปลงอาคารดังกล่าวโดยจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว แล้วจำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามที่จำเลยทุบสกัดแล้วเทคอนกรีตใหม่เป็นคานลอยมิได้เชื่อมติดกับเสาหรือคานที่เป็นโครงสร้างของอาคารซึ่งสามารถแยกออกจากกันได้จึงมิใช่โครงสร้างของอาคาร หากแต่เป็นการเปลี่ยนส่วนต่าง ๆของอาคารโดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528)ข้อ 1(2) และโครงหลังคาก็มิใช่โครงสร้างของอาคาร ดังจะเห็นได้จากกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ข้อ 1(1) และ(5)ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาคารต้องมีขนาดเท่าเดิมแต่เนื้อที่หลังคาหรือโครงหลังคาสามารถขยายให้มากขึ้นไม่เกินห้าตารางเมตรได้โดยไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มิได้ให้บทนิยามอธิบายความหมายของคำว่าโครงสร้างอาคารไว้แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิศวกรรมก่อสร้างและเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว น่าจะหมายถึงส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารซึ่งอาจได้แก่ ฐานราก เช่น คานคอดินต่อม่อ เสา หรือส่วนกลางของอาคาร เช่น คาน พื้น หรือส่วนบนของอาคาร เช่น โครงหลังคา หลังคา เป็นต้น ดังนั้นคานลอยคดีนี้แม้มิได้เชื่อติดกับเสา แต่ก็มีไว้สำหรับรองรับน้ำหนักและกำลังต้านทานเช่นเดียวกับคานโครงสร้าง นับได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคาร จึงเป็นโครงสร้างของอาคารด้วยเมื่อจำเลยกระทำต่อลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วนน้ำหนัก หรือเนื้อที่แห่งโครงสร้างของอาคารและเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่มิให้ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ข้อ 1(1) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4และมาตรา 5(3) การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และโครงหลังคาเป็นโครงสร้างของอาคารตามความหมายดังกล่าวมาแล้วการที่จำเลยเปลี่ยนโครงหลังคาจากไม้เป็นเหล็ก ย่อมเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยมิได้ใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม ซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 1(1) แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดียวกัน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งห้ามคดีนี้ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยดัดแปลงอาคารอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจดำเนินการมีคำสั่งห้ามดังกล่าวได้ตามมาตรา 40(2)แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 คำสั่งห้ามคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อจำเลยฝ่าฝืนอันเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้มีคำสั่งให้จำเลยแก้ไขแบบแปลนและเพิ่มรายการคำนวณตามที่จำเลยแจ้งขอดัดแปลงอาคารคดีนี้ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ก็ตาม ก็หาทำให้คำสั่งห้ามที่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นคำสั่งห้ามที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาไม่
พิพากษายืน

Share