คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ได้ระบุห้ามเจ้าหนี้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกนั้นต้องเป็นการรู้โดยแน่นอน มีหลักฐานยืนยัน แม้จะได้ความจากพันตำรวจโทพ.พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เมื่อกลางปี 2532 ผู้ใต้บังคับบัญชารายงาน ให้ทราบว่า ส.ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ได้ทำหนังสือถึงทายาทให้จัดการเกี่ยวกับเรื่องสัญญาประกัน และ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2533 กรมตำรวจได้ ขอความร่วมมือจากอธิบดีกรมอัยการให้จัดพนักงานอัยการ เป็นทนายว่าต่างดำเนินการฟ้อง ส. ให้รับผิดชดใช้เงินค่าปรับกองคดีแพ่งกรมอัยการ รับดำเนินการให้เมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2533 ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวเป็นเพียง ข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบถึงการตายของ ส. ยังฟังเป็นแน่นอนหาข้อยุติไม่ได้ว่า ส.ถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทำบันทึกลงวันที่ 22 มิถุนายน 2535 รายงานพันตำรวจโทพ.ว่าส.ได้ถึงแก่ความตายแล้ว พร้อมทั้งแสดงมรณบัตร พันตำรวจโทพ. รับทราบในวันเดียวกันย่อมต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการตายของส.แล้วนับแต่นั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2535 ยังไม่พ้นกำหนด1 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของส.เจ้ามรดกฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส.เป็นผู้ประกันตัวว. ผู้ต้องหาแล้วผิดสัญญาประกันต้องใช้เงินจำนวน 500,000 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทผู้รับ ทรัพย์ตามพินัยกรรมของส.จึงต้องรับผิดต่อโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสุพร กัณห์โพธิ์หรือกัณหโพธิ์ทำสัญญาประกันตัวนายวีระพล จึงวัฒนมงคล ผู้ต้องหาไปจากโจทก์โดยสัญญาว่าจะส่งตัวนายวีระพลตามที่โจทก์กำหนดนัดหากผิดสัญญายินยอมใช้เงิน 500,000 บาท โดยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 55628 พร้อมบ้านเลขที่ 108 หมู่ที่ 5 ตำบลประเวศอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร มอบแก่โจทก์เป็นหลักประกันโจทก์นัดให้นางสุพรนำตัวนายวีระพลมาส่งให้โจทก์หลายครั้งนางสุพรไม่สามารถนำตัวนายวีระพลมาส่งให้โจทก์ตามนัดได้จึงเป็นการผิดสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532นางสุพรถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมของนางสุพรจึงต้องร่วมกันชำระค่าปรับดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางสุพร กัณห์โพธิ์หรือกัณหโพธิ์ไม่เคยทำสัญญาประกันตัวนายวีระพล จึงวัฒนมงคล ไว้แก่โจทก์นางสุพรจึงไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประกันและไม่ต้องใช้เงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าปรับตามสัญญาประกัน โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งนี้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2527 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบุคคโลจับนายวีระพล จึงวัฒนมงคล ผู้ต้องหาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ในวันเดียวกันนายวีระพลผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจากโจทก์ โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท ตามคำร้องขอประกันและสัญญาประนีประนอมเอกสารหมาย จ.1
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นที่สองว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ได้ระบุห้ามเจ้าหนี้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าการรู้หรือควรได้รู้ดังกล่าว ต้องเป็นการรู้โดยแน่นอน มีหลักฐานยืนยัน แม้จะได้ความจากพันตำรวจโทพูนประยูร อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เมื่อกลางปี 2532 ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานให้ทราบว่านางสุพรถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ได้ทำหนังสือถึงทายาทให้จัดการเกี่ยวกับเรื่องสัญญาประกัน และเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2533 กรมตำรวจ ได้ขอความร่วมมือจากอธิบดีกรมอัยการให้จัดพนักงานอัยการเป็นทนายว่าต่างดำเนินการฟ้องนางสุพรให้รับผิดชดใช้เงินค่าปรับจำนวน 500,000 บาทกองคดีแพ่ง กรมอัยการ รับดำเนินการเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2533ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบถึงการตายของนางสุพร ยังฟังเป็นแน่นอนหาข้อยุติไม่ได้ว่านางสุพรถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทำบันทึกลงวันที่ 22 มิถุนายน 2535รายงานพันตำรวจโทพูนประยูรว่านางสุพรได้ถึงแก่ความตายแล้วพร้อมทั้งแสดงมรณบัตร ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.8 และมรณบัตรเอกสารหมาย จ.9 พันตำรวจโทพูนประยูรรับทราบในวันเดียวกันย่อมต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการตายของนายสุพรแล้วนับแต่นั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2535 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของนางสุพรเจ้ามรดกฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองในประเด็นสุดท้ายว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าปรับตามสัญญาประกันหรือไม่และโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เพียงใดข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่านางสุพรเป็นผู้ประกันตัวนายวีระพลผู้ต้องหาแล้วผิดสัญญาประกันต้องใช้เงินจำนวน 500,000 บาท ตามสัญญาประกันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมของนางสุพรต้องรับผิดต่อโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share