คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4คำว่า “ผลิต” ให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุด้วยนั้นต้องหมายถึงการกระทำอันมีลักษณะที่เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสังคมในทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำผสม ปรุง แปรสภาพเปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการแบ่งบรรจุเพื่อความสะดวกในการใช้หรือเสพของตนเอง ย่อมมีเป็นธรรมดาของบุคคลที่ต้องการใช้เสพ ไม่มีลักษณะร้ายแรงดังเช่นที่กล่าวมา จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผลิต” ฉะนั้นการแบ่งบรรจุกรณีใดจะอยู่ในความหมายของคำว่า “ผลิต”ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป หาใช่ว่าเมื่อมีการแบ่งบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 แล้วต้องถือว่าเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เสมอไปไม่ เฮโรอีนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยมีน้ำหนักเพียง 0.26 กรัมกรณีถือได้ว่าเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย การแบ่งบรรจุในหลอดกาแฟจำนวน 11 หลอด จะถือว่าเป็นจำนวนเกินสมควรยังไม่ถนัดทั้งจำเลยให้การในชั้นสอบสวนและชั้นศาลตลอดมาว่าจำเลยมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อเสพ แม้โจทก์จะนำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่า จำเลยลักลอบขายยาเสพติดและลักลอบมั่วสุมเสพยาเสพติด จึงได้มีการออกหมายค้นที่อยู่อาศัยของจำเลยก็ตาม แต่เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆมิได้นำพยานแวดล้อมอื่นใดมาสืบประกอบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ กรณียังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ทั้งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยแบ่งบรรจุยาเสพติดดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชน จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตน้ำหนัก 0.26 กรัมนับว่ามีปริมาณไม่มาก และจำเลยให้การรับสารภาพว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพตลอดมาจนถึงชั้นศาลประกอบกับจำเลยถูกต้องขังในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา ตลอดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้วจึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผลิตเฮโรอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 65, 67, 102 ริบของกลางที่เหลือทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่ปฏิเสธข้อหาผลิตเฮโรอีน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7(1), 15 วรรคหนึ่ง,67, 102 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานผลิตเฮโรอีนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิตทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ริบของกลางที่เหลือทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,67 จำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาทเฮโรอีนของกลางมีไม่มากนัก และไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปีให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลชั้นต้นเดือนละครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษปรับแล้วให้ปล่อยตัวไป ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 เวลา 16.30 นาฬิกาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดได้เฮโรอีนบรรจุในหลอดพลาสติก11 หลอด น้ำหนักสุทธิ 0.26 กรัม หลอดพลาสติกเปล่ามีฝาปิด1 หลอด หลอดกาแฟเปล่า 1 ถุง ใบมีดโกน 1 เล่ม และไฟแช็ก 1 อันเป็นของกลาง โดยจำเลยได้แบ่งบรรจุเฮโรอีนดังกล่าวใส่หลอดกาแฟคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 คำว่า “ผลิต” รวมถึงการแบ่งบรรจุโดยไม่ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ยาเสพติดแพร่หลายแต่อย่างใดการที่จำเลยแบ่งเฮโรอีนในหลอดพลาสติกใส่ในหลอดกาแฟที่ตัดสั้นจำนวน 11 หลอด ถือได้ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานผลิตเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 แล้ว และมาตรา 65 วรรคหนึ่งเป็นบทลงโทษสำหรับการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ส่วนในมาตรา 65 วรรคสอง เป็นบทกำหนดโทษสำหรับการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่ายแยกจากกันแสดงว่าการผลิตตามวรรคหนึ่งไม่ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อจำหน่ายจำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 คำว่า”ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ใดผลิตนำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแสดงว่าการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าจะเป็นการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพเปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสังคม เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทำให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีอยู่อย่างแพร่หลายยากที่จะปราบปรามให้หมดสิ้นไปได้ กฎหมายจึงได้กำหนดโทษไว้สูงถึงจำคุกตลอดชีวิต และเมื่อเทียบเคียงกับบทลงโทษฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งมาตรา 65 วรรคหนึ่งกำหนดให้ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตเท่ากับบทลงโทษฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 100 บาทตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับ ย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดโทษความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมจากการกระทำความผิดโดยการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ไม่ว่าด้วยการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปหรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นการกระทำที่มีลักษณะที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงต่อไป เมื่อกฎหมายมีความมุ่งหมายเช่นนี้ คำว่า “ผลิต” ที่กฎหมายบัญญัติให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุด้วยนั้น จึงต้องหมายถึงการกระทำอันมีลักษณะที่เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสังคมในทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการแบ่งบรรจุเพื่อความสะดวกในการใช้หรือเสพของตนเองเช่นคดีนี้ย่อมมีเป็นธรรมดาของบุคคลที่ต้องการใช้เสพไม่มีลักษณะร้ายแรงดังเช่นที่กล่าวมาจึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า”ผลิต” ตามกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น การแบ่งบรรจุกรณีใดจะอยู่ในความหมายของคำว่า “ผลิต” ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป หาใช่ว่าเมื่อมีการแบ่งบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 แล้ว ต้องถือว่าเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ดังที่โจทก์ฎีกาเสมอไปไม่ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22/2539 ระหว่างพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดปากพนังโจทก์ นายจเรย์ ช่วยชู กับพวกจำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6846/2540 ระหว่าง พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดปากพนังโจทก์ นายสมหมาย บุญสุวรรณ จำเลย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการต่อไปว่าการที่จำเลยแบ่งบรรจุเฮโรอีนในหลอดพลาสติกใส่หลอดกาแฟถึง11 หลอด เป็นจำนวนมากเกินความจำเป็นที่จะต้องแบ่งไว้ในคราวเดียวเพื่อเสพเองจึงเป็นการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เฮโรอีนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยมีน้ำหนักเพียง 0.26 กรัมนับว่าเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยการแบ่งบรรจุในหลอดกาแฟจำนวน 11 หลอด จะถือว่าเป็นจำนวนเกินสมควรยังไม่ถนัด ทั้งจำเลยก็ให้การในชั้นสอบสวนและชั้นศาลตลอดมาว่าจำเลยมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อเสพ แม้โจทก์จะนำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยลักลอบขายยาเสพติดและลักลอบมั่วสุมเสพยาเสพติดจึงได้มีการออกหมายค้นที่อยู่อาศัยของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ มิได้นำพยานแวดล้อมอื่นใดมาสืบประกอบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยแบ่งบรรจุยาเสพติดดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนต่อไป จำเลยอาจมียาเสพติดดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อเสพเองดังที่จำเลยได้ให้การรับสารภาพตลอดมาก็เป็นได้ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3รอการลงโทษให้แก่จำเลยไม่เหมาะสมแก่รูปคดีนั้นเห็นว่าจำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตน้ำหนัก 0.26 กรัมนับว่ามีปริมาณไม่มาก และจำเลยให้การรับสารภาพว่ามีเฮโรอีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อเสพตลอดมาจนถึงชั้นศาล ประกอบกับจำเลยถูกต้องขังในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาตลอดมาเป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน 6 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3กำหนดโทษและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น นับว่าเป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share