คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างเป็นผู้จัดการของโจทก์ตามสัญญาจ้างผู้จัดการ โดยสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1รับชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินต่อโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ระหว่างจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการของโจทก์ สินค้าโจทก์ขาดบัญชีไป จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีดังกล่าวตามข้อตกลง เป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามข้อตกลงที่มี ข้อตกลงที่มีต่อกันตามสัญญาที่ทำกันไว้ และอายุความในกรณีนี้มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องมีอายุความ10 ปี นับแต่โจทก์ทราบว่าสินค้าโจทก์ขาดบัญชีตามมาตรา 169 เดิม อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ สัญญาจ้างฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างได้รับทราบและตกลงที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการตามระเบียบข้อบังคับ ของร้านสหกรณ์และหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะ มอบหมายให้ ถ้าผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นต่อผู้จ้างไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้รับจ้างยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินนั้น ๆ โดยสิ้นเชิงให้แก่ผู้จ้างตามที่ผู้จ้างจะเรียกร้อง และข้อบังคับของ โจทก์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการระบุว่า ผู้จัดการ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวกับบรรดากิจการค้าของสหกรณ์ รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของสหกรณ์ จัดการวางระเบียบเกี่ยวกับการปกครองและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรทั้งนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ตรวจตราดูแลสถานที่ สำนักงานร้าน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนบรรดาสินค้าของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย ดังนั้น เมื่อสินค้าของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์ขาดบัญชีไปและไม่ปรากฏว่าที่สินค้าขาดบัญชีไปดังกล่าวเกิดจากการ กระทำของผู้อื่น ย่อมเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการ ทำให้สินค้าของ โจทก์ที่อยู่ในความครอบครองสอดส่องดูแลของตนขาดบัญชีไปโดยประมาทเลินเล่อและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่จำเลยที่ 1 อาจเป็นผู้ก่อในวงเงินจำนวน 200,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนจำกัด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าวงเงินที่จำนองที่ดินเป็นประกัน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทน และหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบนั้น ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างเป็นผู้จัดการให้โจทก์มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินต่อโจทก์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินแก่โจทก์อย่างสิ้นเชิง โดยมีจำเลยที่ 2จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13232 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้ ระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์กับเป็นผู้ครอบครองสินค้าชนิดต่าง ๆ และทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยที่ 1ประมาทเลินเล่อโดยไม่สอดส่องดูแลกิจการของโจทก์อย่างใกล้ชิดและถูกต้องทำให้สินค้าขาดบัญชีไปเป็นเงินจำนวน 212,226.60 บาทข้าวสารขาดบัญชีไปเป็นเงินจำนวน 48,599.50 บาท รวมเป็นเงิน260,826.10 บาท จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวหลายครั้งแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยทั้งสองทราบแล้วเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2523 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 19,218.07 บาทรวมเป็นเงินจำนวน 280,044.17 บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 260,826.10 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการจริง จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่โจทก์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเปิดเผยตลอดมา พนักงานบัญชีของโจทก์ได้แสดงบัญชีรับจ่าย งบเดือน และบัญชีกำไรขาดทุนเสนอคณะกรรมการโจทก์ให้รับทราบทุกครั้งที่มีการประชุม จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำผิดสัญญา สินค้าขาดบัญชีไปเป็นเงินจำนวน 260,826.10 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 260,826.10 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2523 ถึงวันฟ้องคือวันที่ 24 มีนาคม 2525 ต้องไม่เกินจำนวน 19,218.07 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2ชำระแทน และหากจำเลยที 2 ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ หากขายไม่ได้เงินพอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าวันที่ 3 เมษายน 2522 โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13232พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ หลังจากจำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นผู้จัดการของโจทก์แล้วเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำการตรวจสอบบัญชีของโจทก์ ผลการตรวจพบว่าสินค้าของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์ขาดบัญชีไปเป็นเงินในราคาขายจำนวน 260,826.10 บาท ตามรายการใบส่งของเอกสารหมาย จ.9 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2415/2526 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ คดีดำเนินมาตามลำดับจนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1ประมาทเลินเล่อโดยไม่สอดส่องดูแลกิจการอย่างใกล้ชิดและถูกต้องทำให้สินค้าขาดบัญชีไปเป็นเงินจำนวน 260,826.10 บาท ในฟ้องไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงมุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานละเมิดเท่านั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่อ้างว่ารู้ถึงการละเมิด ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างเป็นผู้จัดการของโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาจ้างผู้จัดการแนบท้ายฟ้อง โดยสัญญามีข้อตกลงด้วยว่า จำเลยที่ 1 รับชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินต่อโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ระหว่างจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการของโจทก์ สินค้าโจทก์ขาดบัญชีไปเป็นเงินจำนวน 260,826.10 บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีดังกล่าวตามข้อตกลง และจำเลยที่ 2 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วยซึ่งใจความตามคำฟ้องเป็นการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามข้อตกลงที่มีต่อกันตามสัญญาที่ทำกันไว้ และอายุความในกรณีนี้มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โดยเริ่มนับอายุความ แต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม และกรณีนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่โจทก์ทราบว่าสินค้าของโจทก์ขาดบัญชีซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า นายสุทธิพงษ์ ธรรมรักษ์ผู้ตรวจสอบบัญชี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์แถลงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าของโจทก์ขาดบัญชีในการประชุมคณะกรรมการของโจทก์เมื่อวันที่8 เมษายน 2524 ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการโจทก์ครั้งที่4/2524 เอกสารหมาย จ.8 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2415/2526 ของศาลชั้นต้น จึงต้องเริ่มนับอายุความ 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2524 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 24 มีนาคม 2525ยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ราคาสินค้าของโจทก์ที่ขาดบัญชีตามฟ้องหรือไม่ เพียงใดเห็นว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาจ้างผู้จัดการเอกสารหมาย จ.5 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2415/2526ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้างนั้น มีข้อความระบุไว้ในข้อ 3 ว่าผู้รับจ้างได้รับทราบและตกลงที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการตามระเบียบข้อบังคับของร้านสหกรณ์และหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้ ความในข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นต่อผู้จ้างไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้รับจ้างยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินนั้น ๆโดยสิ้นเชิงให้แก่ผู้จ้างตามที่ผู้จ้างจะเรียกร้องและข้อบังคับร้านสหกรณ์ระยอง จำกัด (ข้อบังคับของโจทก์) เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการตามเอกสารหมาย จ.2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2415/2526 ของศาลชั้นต้น ในข้อ 50 ระบุว่า “ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวกับบรรดากิจการค้าของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้(2) เป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของสหกรณ์ จัดการวางระเบียบเกี่ยวกับการปกครองและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการ(5) รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ (8) ตรวจตราดูแลสถานที่ สำนักงาน ร้าน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนบรรดาสินค้าของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์ขาดบัญชีไปเป็นเงินในราคาขายจำนวน 260,826.10 บาท ตามรายการใบส่งของเอกสารหมาย จ.9 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2415/2526 ของศาลชั้นต้น และไม่ปรากฏว่าที่สินค้าขาดบัญชีไปดังกล่าวเกิดจากการกระทำของผู้อื่น ย่อมเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการตามที่ระบุไว้ในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว ทำให้สินค้าของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองสอดส่องดูแลของตนขาดบัญชีไปโดยประมาทเลินเล่อและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยสิ้นเชิงที่จำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธความรับผิดว่าโจทก์มีพนักงานคุมสินค้าพนักงานบัญชีโดยเฉพาะอยู่แล้ว การทำบัญชีคุมสินค้าและทำบัญชีขายสินค้าบกพร่องผิดพลาดอย่างไร จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 นั้น ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง และจำเลยที่ 2 ซึ่งจำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำให้เกิดแก่โจทก์ ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 9 และแผ่นที่ 14 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินเป็นประกันไว้
ในปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า คดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าสินค้าของโจทก์ขาดบัญชีในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์เป็นเงินจำนวน 260,826 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 มีความรับผิดที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ชอบแล้ว แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่จำเลยที่ 1อาจเป็นผู้ก่อในวงเงินจำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนจำกัดตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9 และแผ่นที่ 14 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าวงเงินที่จำนองที่ดินเป็นประกันการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2ชำระเงินแทน และหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบนั้นยังไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า กรณีที่ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ก็ดี หรือกรณียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แทน จำเลยที่ 1 ก็ดี ให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 เพียงเท่าวงเงินที่จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินไว้เป็นประกัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share