คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องและพิสูจน์ถึงสิทธิของโจทก์ในการครอบครองที่ดินพิพาทในคดีนี้อีกได้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ฟ้องคดีหลังว่าจำเลยขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยในส่วนที่ออกทับที่ดินที่โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยกับพวกเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนนี้อีกต่อไป เมื่อปรากฎว่าคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลย ถึงที่สุดโดยศาลฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผลของคดีย่อมผูกพันคู่ความโจทก์จะมากล่าวอ้างในคดีนี้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหาได้ไม่ เพราะเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนที่ถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องของโจทก์คดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน 1 แปลง ซึ่งกว้าง 1 เส้น ยาว 5 เส้น 5 วา เป็นของโจทก์โดยโจทก์ได้รับการยกให้จากมารดาโจทก์ แล้วโจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายปี 2495 จนถึงปัจจุบันเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2513 จำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15094 ทับที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์บางส่วนเป็นเนื้อที่ 3 งาน 20 ตารางวา ปรากฎตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 1 การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยไม่สุจริต จึงขอให้พิพากษาเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15094 เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์และให้จำเลยส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิม ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนนี้ต่อไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 15094 แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11412 ของนางวอน จูคล้ายหล่อ จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15094 มาโดยสุจริตเมื่อปลายปี 2512 แล้วครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาถึงปัจจุบันฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 564/2535 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 15094 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 564/2535 ของศาลชั้นต้น ที่ดินพิพาทในคดีนี้และที่ดินพิพาทในคดีก่อนเป็นที่ดินแปลงเดียวกันโดยที่ดินพิพาทในคดีก่อนเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทในคดีนี้ และที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 15094 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 564/2535 ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน อันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 15094 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และจำเลยกับพวกปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินพิพาทคิดเป็นเนื้อที่74 ตารางวา ขอให้ขับไล่จำเลยกับพวกออกไปพร้อมกับขนย้ายสิ่งปลูกสร้างกับทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทในคดีนั้นด้วยในที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีพยานมาสืบโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินและเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 15094 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15094เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้คิดเป็นเนื้อที่ 3 งาน20 ตารางวาด้วย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 564/2535ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาข้อแรกว่า คดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เนื่องจากคดีดังกล่าวโจทก์และจำเลยมิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทโจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องและพิสูจน์ถึงสิทธิของโจทก์ในการครอบครองที่ดินพิพาทในคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 564/2535 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามที่จำเลยแถลงขอ เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยทำละเมิดและต้องรื้อถอนกับต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีนั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกับพวกทำละเมิดโดยการถมดินและสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยกับพวกรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15094 ทับที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยในส่วนที่ออกทับที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบและให้จำเลยส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิมห้ามจำเลยกับพวกเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนนี้อีกต่อไป คดีทั้งสองจึงมีประเด็นและข้อเท็จจริงแห่งคดีแตกต่างกันนั้น เห็นว่าเมื่อคดีก่อนถึงที่สุดโดยศาลฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผลของคดีย่อมผูกพันคู่ความ โจทก์จะมากล่าวอ้างในคดีนี้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหาได้ไม่เพราะประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในคดีนี้ก็คือโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เช่นเดียวกับคดีก่อนนั่นเอง หาได้มีประเด็นและข้อเท็จจริงแห่งคดีแตกต่างกันดังที่โจทก์ฎีกาไม่
ที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า แม้โจทก์จะรับว่าที่ดินพิพาทคดีนี้อยู่ในส่วนหนึ่งของที่ดินของจำเลยแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 15094 ก็ตาม แต่คดีก่อนไม่มีข้อพิพาทในคดีเกี่ยวข้องกับที่ดินจำเลยแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนคดีนี้มีข้อพิพาทโดยตรงเกี่ยวข้องกับที่ดินจำเลยแปลงดังกล่าวภายในกรอบเส้นสีชมพูตามแผนที่พิพาทเห็นได้แจ้งชัดว่าประเด็นและเหตุในคดีนี้แตกต่างกับประเด็นและเหตุในคดีก่อน จึงไม่จำต้องอาศัยเหตุอย่างเดียวกันในการวินิจฉัยคดีนี้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกโดยที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันทั้งที่ดินพิพาทก็เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แม้คดีก่อนจะไม่มีข้อพิพาทในคดีเกี่ยวข้องกับที่ดินจำเลยแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 15094 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำให้การ และข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว เห็นได้ว่าประเด็นแห่งคดีที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนที่ถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148
พิพากษายืน

Share