คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 567/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 9 มิถุนายน 2539แต่โจทก์ระบุในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ว่าครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 11 มิถุนายน 2539 อันเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์เอง ดังนี้เมื่อโจทก์ขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ จึงต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาเดิม คือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน2539 จึงครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2539โจทก์ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 เป็นการ ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ขอขยาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน145,683.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลในวันที่ 11 มิถุนายน 2539 ดังนั้น โจทก์จึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ออกไปอีก 30 วันนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนด จึงเป็นที่เข้าใจว่า โจทก์ประสงค์จะขอขยายเวลาออกไป 30 วัน นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2539เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 11กรกฎาคม 2539 ได้ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จึงครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่9 มิถุนายน 2539 ฉะนั้นที่โจทก์ระบุในคำร้องว่าครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 11 มิถุนายน 2539 จึงเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์เอง เมื่อโจทก์ขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปอีก30 วัน นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ จึงต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่10 มิถุนายน 2539 จึงครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2539โจทก์ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ขอขยาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share