คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518มาตรา 28 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิด ภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินภายในระยะเวลา 3 ปี เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายนั้น เป็นบทบัญญัติที่มิได้ห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาดเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการก่อน แต่คดีนี้คู่กรณีได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทฉบับแรกโดยกำหนดโอนกันภายในวันที่ 27 มิถุนายน 2533 ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 3 ปีจึงเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับหลัง ซึ่งกำหนดโอนที่ดินพิพาทกันภายในวันที่ 20 เมษายน 2534โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2533 ซึ่งก็อยู่ในระยะเวลา3 ปี จึงเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่อาจทำได้เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโจทก์ทั้งแปดในสำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยตกลงทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่ฝ่ายโจทก์ในราคา 800,000 บาท วางมัดจำไว้ 40,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอน ต่อมามีการทำบันทึกตกลงขยายเวลาออกไปและภายหลังมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ โดยเพิ่มราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 820,000 บาท และเพิ่มเงินมัดจำเป็น 220,000 บาท หากจำเลยผิดสัญญายินยอมให้ปรับตามจำนวนเงินที่วางมัดจำส่วนกำหนดวันโอนที่ดินให้เลื่อนไปเป็นภายในวันที่ 20 เมษายน 2534 พร้อมชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดต่อมาจำเลยจะนำที่ดินไปขายให้แก่ผู้อื่น ฝ่ายโจทก์จึงขออายัดที่ดินไว้ และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท จำเลยรับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินจำนวน 600,000 บาท และไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งแปด โดยจำเลยเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยชดใช้ค่าปรับแก่โจทก์ทั้งแปด เป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยสำนวนแรกให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งแปดไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งแปดได้ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องมีใจความทำนองเดียวกับคำให้การของจำเลยในสำนวนแรกว่า โจทก์มิได้ยินยอมในการทำบันทึกตกลงเพื่อต่ออายุสัญญา ลายมือชื่อโจทก์ที่ปรากฏเป็นลายมือปลอม สัญญาฉบับหลังจึงไม่สมบูรณ์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองฉบับ และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ไปถอนการอายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินหากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9
จำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังให้การเหมือนที่ให้การในสำนวนแรกโดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จำเลยอื่นซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรกเป็นฝ่ายมาขอร้องจำเลยที่ 1 ให้ขยายระยะเวลาและทำสัญญาฉบับใหม่ โดยให้จำเลยที่ 1 ไปขอความยินยอมจากโจทก์แต่โจทก์ไม่ยินยอมและขอบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9จึงมาฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสำนวนแรก จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ในสำนวนหลังให้การว่า โจทก์รู้เป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 9 โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อมิให้จำเลยที่ 1 ต้องถูกบังคับให้โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 205เนื้อที่ 34 ไร่ 1 งาน 96 วา ตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อจังหวัดหนองคาย ให้แก่โจทก์โดยให้เสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนฝ่ายละกึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 34/2534 หมายเลขแดงที่ 972/2537
จำเลยสำนวนแรก และโจทก์สำนวนหลังอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังถึงแก่กรรม นางปราณี จารักษ์ซึ่งเป็นบุตรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 และฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2533เป็นโมฆะ ให้โจทก์ทั้งแปดไปถอนการอายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดิน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ยกฟ้องสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 872/2533 หมายเลขแดงที่ 971/2537ของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งแปดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่23 พฤษภาคม 2533 โจทก์ทั้งแปดได้ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาหลังจากนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2533และสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2533 ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูป มีระยะเวลาห้ามโอนซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่17 เมษายน 2534 ปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งแปดมีว่า สัญญาจะซื้อขายทั้ง 2 ฉบับเป็นโมฆะหรือไม่ โดยที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518มาตรา 28 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินภายในระยะเวลา 3 ปี เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย” ดังนี้ เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาดเป็นเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการก่อนแต่กรณีตามคดีนี้คู่กรณีได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยกำหนดโอนกันครั้งแรกภายในวันที่ 27 มิถุนายน 2533 ซึ่งอยู่ในระยะเวลา3 ปี จึงเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) และตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2533ซึ่งกำหนดโอนที่ดินพิพาทกันภายในวันที่ 20 เมษายน 2534 โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2533 ซึ่งก็อยู่ในระยะเวลา 3 ปี เช่นเดียวกันจึงเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่อาจทำได้เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำแก้ฎีกาของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งแปดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share