คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 264 มา โจทก์รู้อยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวมีข้อพิพาทตรงที่ดินพิพาทกับจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม การที่โจทก์ได้ขอรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแยก แต่จำเลยคัดค้าน การนำชี้ของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของ จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมเช่นเดียวกับที่เคยคัดค้านต่อเจ้าของร่วมเดิมในที่ดินแปลงพิพาทก่อนขายให้โจทก์ ทั้งยังปรากฏอีกว่าผู้เช่าที่ดินของจำเลยทั้งสองได้ใช้น้ำในคลองที่ฝ่ายจำเลยขุดขึ้นรวมตลอดลำรางในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินเดิมคัดค้าน เมื่อจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนกับจำเลยร่วม จำเลยมิได้มีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้งโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ การที่จำเลยได้คัดค้านการชี้แนวที่ดินของโจทก์จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้สิทธิโดยสุจริตไม่เป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคัดค้านการชี้แนวเขต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 เจ้าของรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 264 เนื้อที่ 62 ไร่ 36 ตารางวา ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์เนื้อที่ 51 ไร่ 88 ตารางวา โจทก์ขอรังวัดแบ่งแยกส่วนของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีแต่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4917 และ4919 ตามลำดับ และมีแนวเขตติดต่อด้านทิศเหนือ ได้คัดค้านว่าโจทก์กับนางอู๊ด ชัดใจเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งมานำชี้รุกล้ำแนวเขตที่ดินของนางสงวน หงษ์น้อย มารดาของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินไม่ได้และไม่สามารถนำที่ดินไปจัดสรรขายได้ มีผู้เสนอซื้อจากโจทก์ในราคาไร่ละ 200,000 บาท จำเลยทั้งสองเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์คิดค่าเสียหายเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาที่ดิน 10,000,000 บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนคำขอคัดค้านแนวเขตในการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 264 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของเงิน 10,000,000 บาท นับจากวันฟ้องจนถึงวันถอนคำขอคัดค้านของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมนางสงวนเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 625 ทิศใต้ติดกับที่ดินของโจทก์ เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว จำเลยทั้งสองและบิดามารดาร่วมกันขุดลำรางส่งน้ำด้านทิศใต้ของที่ดินเลาะแนวเขตระหว่างตำบลจากคลองใหญ่ด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก จากนั้นยกเป็นคันดินป้องน้ำเพื่อส่งน้ำเข้านาทุกแปลงลำรางดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสองและบิดามารดาไม่ใช่ลำรางสาธารณประโยชน์ ต่อมานางสงวนได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินให้บุตร แต่ได้เว้นลำรางและค้นดินป้องน้ำไว้ เพื่อใช้ชักน้ำเข้านาได้ทั่วถึงทุกแปลงดังนั้นลำรางและคันดินป้องน้ำจึงอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 625 ของนางสงวน แต่โจทก์และนางอู๊ดได้นำชี้รุกล้ำไปในลำรางและคันดินป้องน้ำที่จำเลยทั้งสองและนายอุดรได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์เป็นเวลาประมาณ 20 ปีแล้วจำเลยทั้งสองจึงคัดค้านการรังวัด ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเป็นเพียงคาดการณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสงวน หงษ์น้อย มารดาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นจำเลย โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านแนวเขตในการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 264หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ปีละ 300,000 บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะถอนคำคัดค้าน คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทปรากฏตามกรอบรูปสามเหลี่ยมเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ. 23 ด้านทิศเหนือของที่ดินพิพาทมีหลักเขต ช.ร.1ถึง ฉ.5245 ยาว 20.56 เมตร และหลักเขต ฉ.5244 ถึง ช.ร.2ยาว 77.92 เมตร ด้านทิศตะวันตกจากหลักเขต ช.ร.1 ถึง ช.ร.3ยาว 6.32 เมตร ด้านทิศใต้จากหลักเขต ช.ร.3 ถึง ช.ร.2ยาวประมาณ 97.72 เมตร ช่วงกลางของด้านหลักเขต ช.ร.1 กับช.ร.3 มีคลองกว้างประมาณ 3.40 เมตร คลองทอดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้านทิศเหนือของคลองดังกล่าวติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4917 ของจำเลยที่ 1 และติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4916ของนางบุญสรวงหรืออำไพ ตามลำดับ ที่ดินจำเลยที่ 1ด้านทิศใต้ซึ่งติดต่อกับคลอง คงติดต่อเฉพาะหลักเขต ข.14695 ถึงช.ร.1 เท่านั้น ส่วนที่ดินจำเลยที่ 1 ด้านทิศใต้จากหลักเขตช.ร.1 ถึง ฉ.5245 ติดต่อกับที่ดินพิพาทซึ่งไม่มีคลอง คงมีแต่ร่องน้ำอยู่ในที่ดินพิพาทและมีน้ำขังอยู่เป็นช่วง ๆ ยาวประมาณ 30 เมตรนับจากบริเวณหัวคลองที่หลักเขต ช.ร.1 ถึง ช.ร.3 ตามรายงานการเดินเผชิญสืบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 ด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยที่ 1 ติดต่อกับที่ดินโจทก์ ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่4918 ที่ดินโจทก์แปลงนี้ด้านทิศใต้มีหลักเขต ฉ.5245 ถึง ช.ร.2ติดต่อกับที่ดินพิพาท ถัดจากที่ดินโจทก์ดังกล่าวไปทางทิศตะวันออกติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4919 ของจำเลยที่ 2 ที่ดินจำเลยที่ 2 ทางด้านทิศใต้คงมีหลักเขต ช.ร.2 เพียงหลักเดียวที่ติดต่อกับที่ดินพิพาทที่ดินของนางบุญสรวงหรืออำไพของจำเลยที่ 1 ของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวข้างต้นนั้นเดิมเป็นที่ดินอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 625 ของจำเลยร่วมกับนายเย็น หงษ์น้อย ซึ่งซื้อมาจากนางจำปีเมื่อปี 2507 ต่อมาปี2520 จำเลยร่วมกับนายเย็นได้แบ่งขายให้แก่นางอำไพซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบุญสรวง โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม และในปี 2524จึงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวออกเป็นโฉนดอีก 5 โฉนดโดยนางบุญสรวงหรืออำไพเป็นผู้ถือโฉนดเลขที่ 4916จำเลยร่วมถือโฉนดเลขที่ 4917, 4918 และ 4919 นายสุรินทร์และนางอุษาถือโฉนดเลขที่ 4920 นายเย็นถือโฉนดเดิมต่อมาเดือนธันวาคม 2524 จำเลยร่วมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4917ให้จำเลยที่ 1 เดือนมีนาคม 2525 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4918ให้นายอุดร หงษ์น้อย นายอุดรโอนขายให้แก่นางสาววิรมลในปี 2526 และนางสาววิรมลโอนขายให้แก่โจทก์ในปี2532 และปี 2527 จำเลยร่วมได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4919ให้จำเลยที่ 2 ปัจจุบันจำเลยร่วมจึงไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 625 ที่ได้แบ่งแยกแล้วที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 264 ซึ่งเดิมเป็นของนางอู๊ด ชัดใจ กับพวกอีก 4 คน ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาในปี 2532 บุตรของนางอูีดทั้งสี่คนได้โอนขายที่ดินเฉพาะส่วนให้แก่โจทก์โจทก์และนางอู๊ดจึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 264 ถัดจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 264 ไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ดินของนายยุ้ย จำปาศรีโฉนดที่ดินเลขที่ 9151ซึ่งแยกมาจากโฉนดที่ดิน 955 ถัดจากที่ดินของนายยุ้ย จำปาศรีไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ดินของนายยุ้ย นิลแก้ว โฉนดที่ดินเลขที่ 9152 ถัดจากที่ดินของนายยุ้ย นิลแก้ว ไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ดินของนางราตรี ฉลองบุญโฉนดที่ดินเลขที่ 9153 ซึ่งแยกมาจากโฉนดที่ดิน 955 ถัดจากที่ดินของนางราตรี ฉลองบุญไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ดินคงเหลือของเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ 955 ถัดจากที่ดินโฉนดเลขที่ 955 ไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ดินของนางบุญสรวงหรืออำไพ จันทสิโร โฉนดที่ดินเลขที่ 569 เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 264 แล้ว ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมให้ด้านทิศเหนือของที่ดินเป็นของโจทก์ ในการรังวัดแนวเขตโจทก์และนางอู๊ดได้ชี้แนวเขต แต่จำเลยทั้งสองได้คัดค้านว่าแนวเขตและหลักเขตของโจทก์ไม่ถูกต้อง รุกล้ำแนวเขตที่ดินของจำเลยร่วมเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองจำเลยร่วมหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมนำสืบว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมเพราะที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 625 เดิมซึ่งเป็นของจำเลยร่วมและนายเย็นก่อนแบ่งแยกโฉนด ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่264 ของโจทก์ แม้จำเลยจะนำสืบฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายขุดคลองในที่ดินด้านทิศใต้ของจำเลยร่วมกับนายเย็นจดที่ดินพิพาทในปี 2509 ก็ตาม ยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินที่จำเลยได้ขุดคลองนั้นเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยร่วมกับนายเย็น เนื่องจากคลองที่จำเลยขุดนี้ได้ขุดทับลำรางสาธารณประโยชน์เมื่อคลองที่จำเลยขุดดังกล่าวอยู่ในทางสาธารณประโยชน์หรือลำรางสาธารณประโยชน์ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ขุดคลองในเขตที่ดินของจำเลยร่วมกับนายเย็น แต่เป็นการขุดคลองในที่สาธารณประโยชน์เดิมเมื่อจำเลยร่วมและนายเย็นทำการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 625ออกเป็นโฉนดเลขที่ 4917, 4918 และ 4919 ในโฉนดที่ดินเลขที่4917 ของจำเลยที่ 1 จึงมิได้ระบุว่ามีคลองอยู่ในรูปแผนที่ดินอยู่ด้วย คงระบุที่ดินของจำเลยที่ 1 จดคลองสาธารณประโยชน์นั้นเป็นการถูกต้องแล้ว เพราะคลองที่จำเลยขุดนั้นเดิมเป็นทางสาธารณประโยชน์และลำรางสาธารณประโยชน์ ซึ่งนายเนียมและบิดานายจำรัส เล็กรัง อุทิศให้ลำรางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) มิใช่เป็นเรื่องจำเลยร่วมเจตนาเว้นที่ดินของตนโดยมิได้ระบุไว้ในโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกเพื่อให้ทายาทของตนใช้น้ำในคลองนั้นร่วมกันแต่อย่างใดฉะนั้น ที่ดินพิพาทที่อยู่ติดต่อกับคลองสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออก จึงไม่อาจถือว่าเป็นที่ดินของจำเลยร่วมกับนายเย็นอยู่ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 625 เดิมได้ และที่ดินพิพาทก็ไม่ถือว่าเป็นลำรางสาธารณประโยชน์อีกต่อไป
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ ในปัญหานี้ จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การและเป็นประเด็นส่วนหนึ่งที่รวมอยู่ในประเด็นที่กำหนดไว้ว่า จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์โดยชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบเกี่ยวกับปัญหานี้ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้เพียงใด ในปัญหานี้แม้จะฟังว่าการที่จำเลยทั้งสองคัดค้านการชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ทางนำสืบของโจทก์นั้นได้ความว่าก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 264 นั้น เจ้าของเดิมที่ดินโฉนดเลขที่264 ได้มีข้อพิพาทกับเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4917, 4918อยู่ก่อนแล้ว โดยนางอู๊ด มารดานายไสวซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 264 ได้ขอรังวัดในปี 2527 และ 2529แต่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมคัดค้านตลอดมาจนรังวัดไม่ได้โดยโต้แย้งกันในส่วนที่ดินพิพาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 264ที่โจทก์จะซื้อโจทก์รู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเขตที่ดินนายเย็นบิดาโจทก์จึงทำการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 264 โจทก์รู้อยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวมีข้อพิพาทตรงที่ดินพิพาทกับจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมการที่โจทก์ได้ขอรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 264 เพื่อแบ่งแยกแต่จำเลยทั้งสองคัดค้านการนำชี้ของโจทก์ว่าไม่ถูกต้อง โอนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมเช่นเดียวกับที่เคยคัดค้านนางอู๊ดเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 264 ก่อนขายให้โจทก์ ทั้งยังปรากฏอีกว่าผู้เช่าที่ดินของจำเลยทั้งสองและของนายอุดรเดิมได้ใช้น้ำในคลองที่ฝ่ายจำเลยขุดขึ้นรวมตลอดลำรางในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินเดิมของที่ดินโฉนดเลขที่ 264 คัดค้านแต่อย่างใด จึงมีเหตุให้จำเลยทั้งสองเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนกับจำเลยร่วมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้งโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์การที่จำเลยทั้งสองได้คัดค้านการชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่เป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อความเสียหายในส่วนนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับคำขอให้ใช้ค่าเสียหาย

Share