คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7940/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล.บิดาของโจทก์ทั้งสามและด.เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาทมาแต่เดิม ต่อมา ล. ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และด. แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และด. ได้ที่ดินพิพาทเป็นอัตราส่วนเพียงใดต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 และด.มีส่วนในที่ดินพิพาทเท่ากันคนละกึ่งหนึ่ง ต่อมาด.ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอม ด.ขายที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 ได้ด้วยสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทจึงมีผลผูกพันเฉพาะที่ดินในส่วนของด. เท่านั้น หามีผลผูกพันในส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ด้วยไม่ โจทก์ที่ 1 และจำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทร่วมกันคนละกึ่งหนึ่ง โจทก์ทั้งสามฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์รับมรดกมาจากบิดาและครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจำเลยบุกรุกนำดินเข้ามาถม ขอให้ขับไล่จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากด.และจำเลยได้เข้าครอบครองตลอดมา โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าครอบครองคำให้การจำเลยดังกล่าวเป็นการต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาแต่ต้น โดยจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม คดีจึงไม่มีประเด็นในเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทด้วยจึงเป็นการนอกเหนือจากคำฟ้องและคำให้การ เป็นการ ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 และมาตรา 183 แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัย ในประเด็นข้อนี้ให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้ว โดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาใน ประเด็นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 ฟ้องอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินพิพาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองร่วมกับโจทก์ที่ 2 ที่ 3และจำเลยคนละหนึ่งส่วน โจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวจึงถึงที่สุด ดังนั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้ คงพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองเพียงหนึ่งในสี่ส่วนแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 1 ที่จะฟ้องใหม่ เพื่อขอให้บังคับเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือ ตามสิทธิของตนต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148(3)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามรับมรดกที่ดิน 1 แปลงเนื้อที่ประมาณ 2 งาน จากนายโหลงหมาน หมัดสะดายบิดาของโจทก์ทั้งสาม และครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว ต่อมาจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวเพื่อแย่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากนายดล หมัดสะดาย โดยนายดลมอบหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดินซึ่งมีชื่อนายโหลงหมานบิดาเป็นผู้ถือสิทธิ และจำเลยเข้าครอบครองตลอดมาโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละหนึ่งในสี่ส่วน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามเสียทั้งหมด
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีประเด็นข้อแรกว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์ที่ 1 และนายดลหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายโหลงหมานบิดาของโจทก์ทั้งสามและนายดลเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองมาแต่เดิม และนายโหลงหมานยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และนายดลเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และนายดลได้ที่ดินพิพาทเป็นอัตราส่วนเพียงใดต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 และนายดลมีส่วนในที่ดินพิพาทเท่ากันคนละกึ่งหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า นายดลมิได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยนั้น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่านายดลได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำตามเอกสารหมาย ล.4 จริง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมให้นายดลซึ่งครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงแทนโจทก์ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 ได้ด้วยเช่นนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงมีผลผูกพันเฉพาะที่ดินในส่วนของนายดลเท่านั้น หามีผลผูกพันในส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ด้วยไม่โจทก์ที่ 1 และจำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทร่วมกันคนละกึ่งหนึ่ง โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มิได้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทด้วย
สำหรับประเด็นต่อไปที่ว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกคืนการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์รับมรดกมาจากบิดาและครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จำเลยบุกรุกนำดินเข้ามาถมขอให้ขับไล่ จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากนายดล และจำเลยได้เข้าครอบครองตลอดมาโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าครอบครองตามคำให้การจำเลยดังกล่าวเป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาแต่ต้น โดยจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม คดีจึงไม่มีประเด็นในเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ จึงเป็นการนอกเหนือจากคำฟ้องและคำให้การ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และมาตรา 183แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนั้น จึงเห็นสมควรพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไปเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่ แต่เนื่องจากคดีนี้โจทก์ที่ 1ฟ้องอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินพิพาทเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองร่วมกับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยคนละหนึ่งส่วน โจทก์ที่ 1มิได้อุทธรณ์ ประเด็นดังกล่าวจึงถึงที่สุด ดังนั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้คงพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองเพียงหนึ่งในสี่ส่วนแต่เห็นสมควรไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 1 ที่จะฟ้องใหม่เพื่อขอให้บังคับเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือตามสิทธิของตนต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทท้ายฟ้องหนึ่งในสี่ส่วน โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 1 ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share