แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิม ค. ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน ต่อมา ค. ขอแก้ไขรูปที่ดินใหม่และแก้ไขเนื้อที่เป็น2 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ให้รูปที่ดินและเนื้อที่ตรงกับที่ดินพิพาทที่ ค. มีสิทธิครอบครองอยู่ในขณะนั้นให้ถูกต้องตรงความจริง หลังจากนั้น ค. จึงโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3แม้หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 ดังกล่าวจะออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 ของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 ที่ไม่อาจเพิกถอนได้กรณีเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขรูปที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 ให้ถูกต้องตรงความเป็นจริงต่อไป การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 จึงไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2และที่ 3 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวขัดต่อเหตุที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 เนื้อที่ 15 ไร่ 50 ตารางวาโดยซื้อจากนางอุบลวรรณ โสมนัส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2533โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานให้รังวัดตรวจสอบเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 ของโจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 3 คัดค้านการรังวัดอ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสามตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1069และเลขที่ 793 และจำเลยทั้งสามบุกรุกที่ดินของโจทก์โดยปักหลักเขตทำรั้วในที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 และเลขที่ 1069 ให้จำเลยทั้งสามถอนคำคัดค้านการรังวัดตรวจสอบที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนรั้วจากที่ดินพิพาทหากไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อถอนโดยจำเลยเสียค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1069 ของจำเลยที่ 1 และเลขที่ 449ของโจทก์ เป็นคนละแปลงกัน ถ้าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันโจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องเรียกคืนภายในหนึ่งปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครองโจทก์ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 449ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 เดิมนางคำผง อินทร์ต่อมหรือวงษ์ขันมีสิทธิครอบครอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 ไม่ได้ออกทับที่ดินของโจทก์ ต่อมาเมื่อนางคำผงรู้ว่ารูปที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่ถูกต้อง จึงได้ไปยื่นคำร้องขอแก้ไขให้ถูกต้องและเจ้าพนักงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ใหม่แล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2527 นางคำผงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินจากนางคำผงโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากซื้อที่ดินมาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ต่อจากนางคำผง ตั้งแต่ปี 2527 ตลอดมาที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 449 ของโจทก์ หากเป็นที่ดินแปลงเดียวกันคดีโจทก์ก็ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกคืนการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครองโจทก์ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 449ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1069 และเลขที่ 793 คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนรั้วออกจากที่พิพาท และดำเนินการเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ตามบันทึกถ้อยคำฉบับลงวันที่21 พฤศจิกายน 2533 หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมนายประเสริฐ ชัยมงคล เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 เนื้อที่ 15 ไร่ 50 ตารางวาทิศเหนือจดลำเหมืองสาธารณะ ทิศใต้และทิศตะวันออกจดที่ดินแปลงอื่นของนายประเสริฐ ทิศตะวันตกจดถนนโป่งดิน-โป่งกุ่ม ซึ่งออกเมื่อปี 2514 ในวันที่9 กันยายน 2529 นายประเสริฐยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางสุภาวดี พลายโถ ซึ่งเป็นบุตรและนางสุภาวดีได้ขายที่ดินที่ได้รับการยกให้นั้นแก่นางอุบลวรรณ โสมนัสในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2533 นางอุบลวรรณขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนนางคำผง อินทร์ต่อมหรือวงษ์ขันได้ครอบครองที่ดินแปลงหนึ่ง โดยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 เนื้อที่ 1 ไร่3 งาน ตามเอกสารหมาย จ.27 ซึ่งออกเมื่อวันที่21 มีนาคม 2523 ครั้นถึงปี 2527 นางคำผงขอแก้ไขรูปที่ดินที่ครอบครองใหม่โดยอ้างว่าระวางรูปที่ดินเดิมผิดพลาดหลังจากชี้แนวเขตที่ดินใหม่ทำให้รูปที่ดินเปลี่ยนไปโดยร่นแนวเขตที่ดินเดิมทั้งแปลงลงมาทางทิศใต้พ้นจากแนวเขตที่ดินแปลงเดิม ปรากฏตามสำเนารูปแผนที่ (ใบต่อ) เอกสารหมาย จ.28และได้มีการแก้ไขจำนวนเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 เป็น 2 ไร่ 3 งาน 62 ตารางวา ตามรูปที่ดินใหม่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 นี้อยู่ภายในแนวเขตที่ดินของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 449 เอกสารหมาย จ.2 นางคำผงเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ และเมื่อนางคำผงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ครอบครองที่ดินต่อมาในปี 2529 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินจากผู้ถือสิทธิครอบครองเดิม จำนวน 14 แปลง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2530 จำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินทั้ง 14 แปลง ไปขอรวมออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 176 ตามคำขอรวมน.ส.3 ก. และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งออกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2530 ครั้นถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2530จำเลยที่ 1 ได้ขอแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 176 เมื่อแบ่งแยกที่ดินแล้วเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1069 เนื้อที่ 6 ไร่ 40 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533โจทก์ได้ขอรังวัดสอบเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 แต่จำเลยที่ 1 คัดค้านโดยอ้างว่าโจทก์นำรังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งนางคำผง อินทร์ต่อม ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 ไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางคำผงเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อน ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้รับโอนการครอบครองที่ดินพิพาทจากนางคำผง โจทก์กลับฎีกาว่า นางคำผงครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าที่ดินจากนายประเสริฐ ชัยมงคล ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม การครอบครองที่ดินพิพาทนางคำผงจึงเป็นการครอบครองแทนเจ้าของเมื่อนางคำผงโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังอยู่กับนายประเสริฐตลอดมาจนตกมาถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินต่อจากเจ้าของเดิมข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นฎีกาดังกล่าวมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย และเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางคำผงเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 เอกสารหมาย จ.27 และรูปแผนที่ (ใบต่อ)เอกสารหมาย จ.28 ซึ่งได้แก้ไขรูปที่ดินใหม่แล้ว แสดงว่าได้มีการแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้รูปที่ดินและเนื้อที่ตรงกับที่ดินพิพาทที่นางคำผงมีสิทธิครอบครองอยู่ในขณะนั้นเอกสารหมาย จ.27 และ จ.28 จึงถูกต้องตรงความจริงแล้วแม้เอกสารหมาย จ.27 และ จ.28 จะออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 ของโจทก์ก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 ที่ไม่อาจเพิกถอนได้เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขรูปที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 ให้ถูกต้องต่อไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 จึงไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2และที่ 3 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวขัดต่อเหตุที่วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิครอบครองที่ดินตามเอกสารหมาย จ.27 และ จ.28
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1069 เอกสารหมาย จ.22 เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449เอกสารหมาย จ.2 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงอยู่ภายในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ดินคนละแปลงกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 449 ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาและไม่น่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบ แต่จำเลยที่ 1 เพิ่งเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2533 ตามที่โจทก์นำสืบทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้สร้างรั้วแนว ก-ข ในระยะเดียวกันซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี และเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 1 ปี สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 793 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2