แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดที่ 1 ถึง งวดที่ 9เรียงลำดับมา แม้ทุกงวดจะชำระไม่ตรงเวลา แต่โจทก์ก็รับไปโดยไม่มีข้อโต้แย้งแสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงไม่ถือว่าการชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงเวลาเป็นการผิดสัญญา เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายงวดที่ 9เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2534 ห่างจากวันชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเพียง 19 วัน เป็นการยึดรถคืนโดยไม่มีสิทธิจะกระทำได้ นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าซื้อยังได้ตกลงไว้ว่าในกรณีผู้เช่าไม่ใช้เงินค่าเช่าสองงวดติด ๆ กัน เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ผู้เช่าละเลยไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน ผู้เช่ายอมให้เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกการเช่าและริบเงินที่ได้รับชำระแล้วและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ทันที อีกทั้งโจทก์ก็ยอมรับว่าโจทก์ต้องมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายใน30 วัน ก่อนจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่โจทก์มิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติการชำระค่าเช่าซื้อภายใน 30 วัน กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาทันทีการบอกเลิกสัญญาโดยผิดข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่ชอบ การที่โจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 25พฤศจิกายน 2534 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งเสียภายในเวลาอันสมควร จำเลยที่ 1 เพิ่งมาโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มี สิทธิยึดรถหลังจากถูกโจทก์ฟ้องและโจทก์ได้ยึดรถไปแล้ว1 ปีเศษ จึงเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับรถคืนแล้วโจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วแก่จำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถที่เช่าซื้อตั้งแต่วันทำสัญญาถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืน โจทก์ย่อมขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม รถที่โจทก์ยึดคืนปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มเป็นเงิน 220,000 บาท และก่อนทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไปแล้ว เป็นเงิน 200,000 บาท ถือได้ว่าเป็นการงาน อันได้กระทำให้ เพราะเมื่อโจทก์ยึดรถคืนมาย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์กล่าวคือ ตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนเงินดาวน์ก็เป็นส่วนหนึ่งของราคารถ โจทก์จึง ต้องใช้คืนแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มก็ดี ชำระเงินดาวน์ก็ดี ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่ด้วยในการที่นำรถไปใช้รับจ้างบรรทุกสิ่งของ เป็นเวลาถึง 15 เดือน ซึ่งรถย่อมมีการเสื่อมสภาพลง จึงต้อง หักค่าเสื่อมราคาของรถออกเสียก่อน ส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นที่ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องนั้นเมื่อสัญญาเช่าซื้อมิได้เลิกกันเพราะความผิดของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจึงต่างไม่มีสิทธิเรียกให้อีกฝ่ายชำระ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันที่จะต้องชำระหนี้เงินเป็นอย่างเดียวกัน และต่างฟ้องอีกฝ่ายหนึ่งให้รับผิดซึ่งศาลรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันดังนั้น เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี ศาลฎีกาจึงให้หักกลบลบหนี้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นต้นไป
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า โจทก์ และให้โจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ราคา 1,157,100 บาท ตกลงชำระ มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์รวม 9 งวดเป็นเงิน 247,950 บาท แล้วผิดนัดติดต่อกันเกินกว่า 2 งวดโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถคืนมาได้เมื่อวันที่25 พฤศจิกายน 2534 เสียค่าติดตามเอารถคืนเป็นเงิน 6,000 บาทและโจทก์นำรถออกประมูลขายได้ในราคา 571,962.62 บาท ทำให้โจทก์เสียหายได้รับเงินไม่ครบตามสัญญาเช่าซื้อเป็นเงิน 337,187.38 บาท กับโจทก์ขาดประโยชน์จากการนำรถออกให้เช่าในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถโดยผิดสัญญานับแต่วันผิดนัดถึงวันยึดรถคืนเป็นเวลา 5 เดือน 20 วัน เป็นเงิน 85,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 428,187.38 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
สำนวนหลังจำเลยที่ 1 ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ราคา 1,157,100 บาทตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 27,550 บาท รวม42 งวด จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 9 งวด เป็นเงิน247,950 บาท ครั้งสุดท้ายชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 8 และที่ 9รวมเป็นเงิน 55,100 บาท จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ได้ยึดรถที่เช่าซื้อคืนไปจากจำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายคือ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินมัดจำหรือเงินดาวน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. แสงมงคลไปเป็นเงิน 200,000 บาท เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำรถที่เช่าซื้อไปต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มและติดตั้งเครื่องปรับอากาศวิทยุเทป ภายในรถยนต์รวมเป็นเงิน 242,000 บาท และจำเลยที่ 1 มีสัญญาต้องใช้รถที่เช่าซื้อทำงานให้บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ยึดรถคืนไป จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้รถทำงานให้บุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายเพียงเดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน เป็นเงิน 180,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 869,950 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 532,786 บาทแก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-6502 พระนครศรีอยุธยา จากโจทก์ในราคา1,157,100 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ27,550 บาท รวม 42 งวด ชำระงวดแรกในวันที่ 5 ตุลาคม 2533งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบถ้วนโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้นโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่25 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจากจำเลยที่ 1 ในการเช่าซื้อรถดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์จำนวน 200,000 บาท แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดซ.แสงมงคลผู้ขายรถและจำเลยที่ 1 ได้ต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มเป็นเงิน 220,000 บาทก่อนโจทก์ยึดรถคืนจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 247,950 บาท
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบหรือไม่ นายสุรินทร์ ถนัดใช้ปืนผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อแล้วได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 9 งวดงวดสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 การชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงเวลาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 แล้วหลังจากชำระเงิน 9 งวด จำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระอีก โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายพร้อมทั้งนำรถไปคืน ต่อมาโจทก์ได้ติดตามรถคืนมาได้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2534 เรื่องการชำระค่าเช่าซื้อนี้ได้ความจากนายเอกชัย สุนทรากุลรักษา พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า พยานเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดซ.แสงมงคล จำเลยที่ 1 ซื้อรถอีซูซุสิบล้อจากห้าง จ่ายเงินดาวน์ 200,000 บาท ให้แก่ห้างและทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ทางห้างจะรับเงินจากลูกค้าแทนโจทก์ เพราะมีข้อตกลงว่าทุกวันพฤหัสบดีโจทก์จะส่งพนักงานไปรับเงินจากห้าง จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่างวดไว้ที่ห้างตามใบรับฝากเงินชั่วคราว แม้จำเลยที่ 1 จะชำระค่างวดไม่ตรงตามกำหนดพนักงานของโจทก์ก็รับเงินไปโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ศาลฎีกาตรวจดูใบรับฝากเงินชั่วคราวแล้ว จำเลยที่ 1ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 9 เรียงลำดับมาแม้ทุกงวดจะชำระไม่ตรงเวลา แต่โจทก์ก็รับไปโดยไม่มีข้อโต้แย้งแสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงไม่ถือว่าการชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงเวลาเป็นการผิดสัญญา เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายงวดที่ 9 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2534 ห่างจากวันชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเพียง 19 วัน เป็นการยึดรถคืนโดยไม่มีสิทธิจะกระทำได้นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6(ก) ได้ตกลงไว้ว่า ในกรณีผู้เช่าไม่ใช้เงินค่าเช่าสองงวดติด ๆ กัน เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ผู้เช่าละเลยไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน ผู้เช่ายอมให้เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกการเช่าและริบเงินที่ได้รับชำระแล้วและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ทันทีทั้งผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้เบิกความอธิบายเพิ่มเติมว่าโจทก์ต้องมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายใน 30 วันก่อนจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ทางพิจารณาโจทก์มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติการชำระค่าเช่าซื้อภายใน 30 วัน แต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาทันทีการบอกเลิกสัญญาโดยผิดข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2534โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งเสียภายในเวลาอันสมควร แต่เพิ่งมาโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิยึดรถหลังจากถูกโจทก์ฟ้องและโจทก์ได้ยึดรถไปแล้ว 1 ปีเศษ จึงเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับรถคืนแล้วก็ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วจำนวน 247,950 บาทแก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถที่เช่าซื้อตั้งแต่วันทำสัญญาถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืนเป็นเวลา 15 เดือน โจทก์ย่อมขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามโจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถคิดเป็นเงินเดือนละ 15,000 บาท จึงกำหนดให้ตามนั้น ระยะเวลา15 เดือน รวมเป็นเงิน 225,000 บาท รถที่โจทก์ยึดคืนปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มเป็นเงิน 220,000 บาทและจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดซ.แสงมงคลเป็นเงิน 200,000 บาท ถือได้ว่าเป็นการงานอันได้กระทำให้เพราะเมื่อโจทก์ยึดรถคืนมาย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ กล่าวคือตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มเป็นส่วนประกอบของรถส่วนเงินดาวน์ก็เป็นส่วนหนึ่งของราคารถ โจทก์จึงต้องใช้คืนแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม แต่อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มก็ดีชำระเงินดาวน์ก็ดีย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่ด้วยในการที่นำรถไปใช้รับจ้างบรรทุกสิ่งของเป็นเวลาถึง 15 เดือน ซึ่งรถย่อมมีการเสื่อมสภาพลงจึงต้องหักค่าเสื่อมราคาของรถออกเสียก่อน สำหรับค่าต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ใช้คืนจำนวน 120,000 บาท นั้น เห็นว่า เป็นจำนวนที่พอสมควร ส่วนค่าเงินดาวน์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เต็มตามฟ้องของจำเลยที่ 1 โดยไม่หักค่าเสื่อมราคาของรถออกนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ใช้คืนเพียง 110,000 บาท ส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นที่ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อมิได้เลิกกันเพราะความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจึงต่างไม่มีสิทธิเรียกให้อีกฝ่ายชำระ รวมเงินที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1ทั้งสิ้น 477,950 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 225,000 บาท และต่างฝ่ายต่างต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องของอีกฝ่ายเป็นต้นไป เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันที่จะต้องชำระหนี้เงินเป็นอย่างเดียวกัน ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี ศาลฎีกาจึงให้หักกลบลบหนี้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องเป็นต้นไป เมื่อคำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1จะต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 225,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 30 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องวันที่ 16 ธันวาคม 2535 คิดเป็นดอกเบี้ย 7,813.36 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์นับถึงวันที่ 16 ธันวาคม2535 เป็นเงินทั้งสิ้น 232,813.36 บาท เมื่อนำไปหักออกจากจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ณ วันดังกล่าวโจทก์ยังคงต้องชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 245,136.64 บาทส่วนจำเลยที่ 1 หลุดพ้นไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ไปด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 245,136.64 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์