คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7085/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องที่ 1 จะมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนทางด้านทิศตะวันออกโดยผู้ร้องที่ 1มารดายกให้ก็ตาม แต่ในชั้นนี้เป็นชั้นบังคับคดีซึ่งโจทก์ขอให้บังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริวาร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รื้อถอนโรงเรือนออกไปแล้ว คงเหลือเพียงบริวารซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และปลูกสร้างโรงงานในที่ดินพิพาทมาแต่เดิมอันเป็นผู้ที่จะต้องถูกบังคับในคดีนี้ มิใช่ผู้ร้องทั้งสอง ส่วนที่ผู้เช่าทั้งสามดังกล่าวทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งสองภายหลังที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วกรณีจะทำให้ผู้เช่าทั้งสามไม่ต้องรื้อถอนโรงงานออกไปหรือไม่เป็นเรื่องที่ ผู้เช่าทั้งสามจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษ ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296จัตวา (3) ส่วนที่ตามสัญญาเช่าซึ่งผู้ช่าทั้งสามยอมยกสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสองผู้ให้เช่านั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้เช่าที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเอง ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอนโรงเรือนในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริวารรื้อถอนโรงเรือนออกไป และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2300 ซึ่งออกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นเสีย ส่วนคดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของโจทก์ที่ 2 หรือโจทก์ที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 2 ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2533นางเนือง นาคนวลหรือชนชนะ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1ขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวหลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศขับไล่และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริวารรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากที่ดินพิพาทภายในวันที่ 23 มีนาคม 2535
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 ร่วมกับนางสาวยุภาภรณ์ ชนชนะ บุตรโจทก์ที่ 1 คนละครึ่ง ซึ่งหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องที่ 1 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกตลอดมา ส่วนโรงเรือนในที่ดินพิพาทส่วนนี้เป็นของผู้ร้องที่ 1 สำหรับผู้ร้องที่ 2เป็นของโจทก์ที่ 2 ในคดีซึ่งเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ที่ 1ในที่ดินพิพาท โดยส่วนของผู้ร้องที่ 2 อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินพิพาท และโรงเรือนที่อยู่ในที่ดินพิพาทส่วนนี้เป็นของผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องทั้งสองอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องทั้งสองเอง มิได้อาศัยสิทธิหรือเป็นบริวารของจำเลยการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นแล้วโดยจำเลยที่ 2 ได้รื้อถอนโรงเรือนออกไปตั้งแต่ปี 2533 และไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีก ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอนโรงเรือนที่ดินพิพาท
โจทก์ที่ 1 โดยนางเนือง นาคนวลหรือชนชนะ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่าเป็นมารดาโจทก์ที่ 1 นั้น จะมีสิทธิรับมรดกของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวแก่ผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จะมีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ ก็ยังไม่แน่ชัด ส่วนผู้ร้องที่ 2 ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเท่ากับไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอนโรงเรือนในที่ดินพิพาทนั้นเสีย ส่วนหมายบังคับคดีได้ออกตามคำพิพากษาโดยชอบ ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องที่ 1 ถึงแก่กรรม ผู้ร้องที่ 2ผู้จัดการมรดกของผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 เดิมนางสาวธิติมา นางสาวสุมณฑา และนางสาวสุวรรณีเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และปลูกสร้างโรงงานในที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1ถึงแก่กรรม นางเนื่องซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 1และที่ 2 กับบริวารรื้อถอนโรงเรือนออกไป หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1ได้บังคับคดีซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รื้อถอนโรงเรือนออกไปแล้ว ส่วนนางสาวธิติมา นางสาวสุมณฑา และนางสาวสุวรรณียังไม่ได้รื้อถอนโรงงานออกไป แต่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่ โดยนางสาวธิติมาและนางสาวสุวรรณีทำสัญญาเช่าที่ดินในส่วนที่โรงงานของตนตั้งอยู่จากผู้ร้องที่ 1 ส่วนนางสาวสุมณฑาทำสัญญาเช่าที่ดินในส่วนที่โรงงานของตนตั้งอยู่จากผู้ร้องที่ 2
คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอนโรงเรือนในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องที่ 1 จะมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1โดยเป็นมารดาโจทก์ที่ 1 เพราะโจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม และผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนทางด้านทิศตะวันออกโดยผู้ร้องที่ 1 มารดายกให้ก็ตาม แต่ในชั้นนี้เป็นชั้นบังคับคดีซึ่งบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริวารเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รื้อถอนโรงเรือนออกไปแล้ว คงเหลือบริวารที่ยังไม่ได้รื้อถอนโรงงานออกไป ซึ่งบริวารคือนางสาวธิติมา นางสาวสุมณฑา และนางสาวสุวรรณีผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และปลูกสร้างโรงงานในที่ดินพิพาทมาแต่เดิมอันเป็นผู้ที่จะต้องถูกบังคับ มิใช่ผู้ร้องทั้งสอง ส่วนที่ผู้เช่าทั้งสามดังกล่าวทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งสองภายหลังที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วกรณีจะทำให้ผู้เช่าทั้งสามไม่ต้องรื้อถอนโรงงานออกไปหรือไม่เป็นเรื่องที่ผู้เช่าทั้งสามจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา (3) ส่วนที่ตามสัญญาเช่าซึ่งผู้เช่าทั้งสามยอมยกสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสองผู้ให้เช่านั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้เช่าที่จะต้องไปว่ากล่าวกัน ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอนโรงเรือนในที่ดินพิพาท
พิพากษายืน

Share