คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นทายาทได้รับที่ดินมรดกของ ป. เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ส่วนจำเลยกับ น.รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยผู้โอนขายให้ โดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต เมื่อที่ดินส่วนของ น. น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห.เมื่อห.ถึงแก่กรรมจำเลยและถ.เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนของ ห. โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ น. รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้เพราะสิทธิหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเปีย เปียนวม กับนางจิ๋ว เปียนวมเป็นสามีภริยาและเป็นเจ้าของที่ดินตราจอง ศก 108 คนละ 1 ฉบับตั้งอยู่ที่ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย)จังหวัดสมุทรปราการ รวมเนื้อที่ 51 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวาหลังจากนายเปียถึงแก่กรรม นางจิ๋วขอออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดที่ 952 เนื้อที่ 51 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเปียเนื่องจากจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดิน โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะดำเนินการใส่ชื่อโจทก์และทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเปียในโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินโฉนดที่ 652 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย)จังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมส่งมอบ ให้โจทก์และบรรดาทายาทของนายเปียลงชื่อรับมรดกเฉพาะส่วนของนายเปีย กึ่งหนึ่งในโฉนดที่ดินดังกล่าวฉบับของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางบ่อ
จำเลยให้การว่า นายเปีย เปียนวม มิได้เป็นสามีนางจิ๋วและมิได้เป็นเจ้าของที่ดินกึ่งหนึ่งในที่ดินดังกล่าว ผู้เป็นเจ้าของคือนางจิ๋วบุตรนายคิดและนางอู่ โจทก์มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายเปีย นางจิ๋วเป็นเจ้าของที่ดินก่อนปี 2469ต่อมานางจิ๋วให้นางหมา สุขเทศ เป็นเจ้าของรวมเมื่อนางจิ๋วถึงแก่กรรม ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของนางหมาแต่เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2491 จำเลยซื้อที่ดินแปลงนี้โดยเป็นเจ้าของรวมกับนายเทพ สุขเทศ ต่อมานายนพจำนองที่ดินส่วนของตนไว้แก่นางหนู ฤกษ์สิริ แล้วที่ดินหลุดเป็นสิทธิของนางหนู จำเลยและนางหนูได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยกับนางหนูและญาติพี่น้องของจำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ปี 2491 เป็นเวลาเกินกว่า40 ปีจำเลยจึงได้กรรมสิทธิโดยการครอบครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่โจทก์นำสืบอ้างว่า เดิมนายเปีย เปียนวม และนางจิ๋ว เปียนวมต่างเป็นเจ้าของที่ดินตามตราจอง ศก.108 ตำบลบางพลีน้อยอำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่แปลงละประมาณ 25 ไร่ ที่ดินของนายเปียอยู่ทางด้านทิศใต้ ภายหลังนายเปียถึงแก่กรรม นางจิ๋วขอออกโฉนดที่ดินโดยรวมเอาที่ดินของนายเปียเข้าด้วยกันที่ดินส่วนของนายเปียเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จึงรวมอยู่ในโฉนดที่ 952 โจทก์เป็นบุตรนางละมัยนางละมัยเป็นบุตรนายเปี้ยน นายเปี้ยนเป็นบุตรนายปลื้มและนายปลื้มเป็นบุตรนายเปีย โจทก์จึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายเปีย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเปีย โจทก์และทายาทของนายเปียจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 952 กึ่งหนึ่งนั้นเห็นว่า แม้จะฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อสิทธิของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนโจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง คดีได้ความว่า จำเลยกับนายนพ ศุขเทศ รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวโดยผู้โอนขายกรรมสิทธิ์ให้เมื่อปี 2491 ตามหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสารบาญจดทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.21 และ ล.9 ตามลำดับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต เมื่อโจทก์มิได้อ้างว่าจำเลยและนายนพรับโอนโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า จำเลยและนายนพรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโดยสุจริตแล้ว เมื่อที่ดินส่วนของนายนพ นายนพมีสิทธิดีกว่าโจทก์ แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางหนู เมื่อนางหนูถึงแก่กรรม จำเลยและนางถวิล ริมโพธิ์ทอง เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนนางหนูโดยไม่เสียค่าตอบแทนโจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนตามที่กล่าวอ้างใช้ยันจำเลยได้เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่นายนพรับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต กรณีนี้จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้เพราะสิทธิของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299ซึ่งเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าวเมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างเอากรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในที่ดินตามโฉนดที่ 952 ได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share