คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6191/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่เคยกระทำผิดที่ไหน เมื่อใด และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้กล่าวหาทั้งไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์เมื่อคำให้การจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธจึงต้องถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบเข้ามาเอง แม้ศาลแรงงานมิได้นำมาประกอบการวินิจฉัยคดีก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นที่ยุติแล้ว ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงนี้ได้ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ขณะที่ อ.ผู้บังคับบัญชาของโจทก์กำลังสอนนักศึกษาหลักสูตรวิชาบำรุงรักษาเครื่องสื่อสารอยู่ โจทก์ได้เข้ามาซ่อมเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการเรียนการสอนอยู่ในห้องเดียวกัน ขณะที่ทำการซ่อมนั้นเกิดเสียงดัง อ. บอกให้โจทก์หยุดซ่อม เพราะรบกวนการเรียนการสอน แต่โจทก์ไม่หยุดและเกิดการโต้เถียงกัน เมื่อโจทก์ซ่อมงานเสร็จแล้ว ขณะที่โจทก์กำลังจะออกไปนอกห้องโจทก์ได้พูดกับ อ.อีกว่า ถ้ามีปัญหาอะไรให้ออกไปคุยกันข้างนอก แล้วโจทก์ก็ออกไปพร้อมกับปิดประตูด้วยเสียงดังนั้น เห็นได้ว่าถ้อยคำที่โจทก์กล่าวโต้ตอบ อ.เป็นการแสดงถึงความไม่เคารพหรือยำเกรง ทั้งเป็นการท้าทายผู้บังคับบัญชี เป็นการแสดงถึงความกระด้างกระเดื่องและใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมต่อผู้บังคับบัญชาต้องด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ด้วยแล้ว และขณะเกิดเหตุ อ.กำลังปฏิบัติหน้าที่มีนักศึกษาจำนวนหลายคนฟังการบรรยายของ อ.อยู่ความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมมีมาก ที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ตามฟ้อง ซึ่งนับว่าเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลแรงงานจะพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2537 ตำแหน่งช่างอิเล็กทรอนิกส์การบิน 2 ส่วนบริการกองวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,950 บาทต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2539 จำเลยมีคำสั่งที่ 156/2539 ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์เดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ มีกำหนด 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป กล่าวหาว่าโจทก์แสดงกิริยาไม่เหมาะสมและแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาเมื่อวันที่ 4กรกฎาคม 2539 ซึ่งไม่เป็นความจริง และจากคำสั่งดังกล่าวจำเลยยังอ้างว่าโจทก์เคยถูกลงโทษภาคทัณฑ์ตามคำสั่งที่ 20/2538 โดยโจทก์ไม่เคยกระทำความผิดที่ไหน เมื่อใด และไม่ทราบว่ามีผู้ใดเป็นผู้กล่าวหา อีกทั้งไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์และโจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเคยถูกลงโทษตามคำสั่งที่ 20/2538คำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสองฉบับจึงไม่ถูกต้องตามขั้นตอนตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจลงโทษโจทก์ได้ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ 20/2538 และคำสั่งที่ 156/2539
จำเลยให้การว่า คำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 156/2539 และที่ 20/2538 นั้น ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 เวลาประมาณ 16.30 นาฬิกา โจทก์ได้แสดงกิริยากระด้างกระเดื่องไม่เหมาะสมต่อนายอำนาจ วัชรโยธิน และนายอานุภาพ จันทนะโพธิอาจารย์แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ การบินขั้นมูลฐาน ขณะที่อาจารย์ทั้งสองกำลังสอนนักศึกษาหลักสูตรวิชาบำรุงรักษาเครื่องสื่อสารรุ่นที่ 33 อยู่ เป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่ง วินัยและการลงโทษของพนักงาน พ.ศ. 2537 ข้อ 27, 28 และ 36 และก่อนหน้านั้นโจทก์เคยถูกลงโทษทางวินัยภาคทัณฑ์มาแล้ว 1 ครั้ง ตามคำสั่งที่ 20/2538 ด้วยขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 20/2538 และคำสั่งที่ 156/2539 ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ชี้แจงโต้เถียงกับผู้บังคับบัญชา เป็นการผิดข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยการบรรจุแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่ง วินัยและการลงโทษของพนักงาน พ.ศ. 2537 ข้อ 28เอกสารหมาย ล.2 หรือไม่สำหรับกรณีคำสั่งที่ 20/2538 โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่เคยกระทำผิดที่ไหน เมื่อใด และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้กล่าวหา ทั้งไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ ส่วนคำให้การจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธจึงต้องถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางให้เพิกถอนคำสั่งนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งที่ 156/2539 นั้นข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่4 กรกฎาคม 2539 เวลา 16.30 นาฬิกา ขณะที่นายอำนาจ วัชรโยธินอาจารย์แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ การบินขั้นมูลฐาน กำลังสอนนักศึกษาหลักสูตรวิชาบำรุงรักษา เครื่องสื่อสารอยู่ ณ ห้องปฏิบัติการอาคาร10 ชั้น 2 โจทก์ได้เข้ามาซ่อม เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการเรียนการสอนอยู่ในห้องเดียวกันด้วย ขณะที่ทำการซ่อมนั้นเกิดเสียงดัง นายอำนาจบอกให้โจทก์หยุดซ่อม เพราะรบกวนการเรียนการสอน แต่โจทก์ไม่หยุด และเกิดการโต้เถียงกัน และข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่าเมื่อโจทก์ซ่อมงานเสร็จแล้วขณะที่โจทก์กำลังจะออกไปนอกห้องโจทก์ได้พูดกับนายอำนาจอีกกว่า ถ้ามีปัญหาอะไรให้ออกไปคุยกันข้างนอก แล้วโจทก์ก็ออกไปพร้อมกับปิดประตูด้วยเสียงดัง แม้ข้อเท็จจริงส่วนนี้ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบเข้ามาเองอันเป็นข้อเท็จจริงที่ถือได้ว่าเป็นที่ยุติแล้วเช่นกันจึงไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองที่ศาลฎีกาจะรับฟัง เมื่อฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้วย่อมเห็นได้ว่าถ้อยคำที่โจทก์กล่าวโต้ตอบนายอำนาจนั้น เป็นการแสดงถึงความไม่เคารพหรือยำเกรง ทั้งเป็นการท้าทายผู้บังคับบัญชา จึงเป็นการแสดงถึงความกระด้างกระเดื่องและใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมต่อบังคับบัญชาต้องด้วยข้อบังคับ ข้อ 28 ของเอกสารหมาย ล.2 ดังกล่าวแล้วประกอบกับขณะเกิดเหตุนายอำนาจกำลังปฏิบัติหน้าที่ มีนักศึกษาจำนวนหลายคนฟังการบรรยายของนายอำนาจอยู่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมมีมาก ที่จำเลยลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ตามฟ้องนั้น นับว่าเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 156/2539 ด้วย ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนคำสั่งที่ 156/2539 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share