แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินและค้ำประกันจำเลยที่ 1 ที่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อการทำหนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสิทธิเรียกร้องเป็นเพียงเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ดังนี้ จำเลยที่ 4 จึงยังต้องผูกพันในฐานะตามสัญญาค้ำประกันที่ตนทำไว้กับโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน455,037,876.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 219,723,392.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดใช้หนี้หากได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดใช้หนี้จนครบ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14 ต่อปี จากจำเลยที่ 1 นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งสองฉบับถึงวันวันครบกำหนดชำระหนี้เพราะขัดกับความในข้อ 5 ของหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับแรก ข้อ 1 ของหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับที่ 2 และขัดต่อเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม2532 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ 1,211,808 บาท ต่อมาวันที่ 1สิงหาคม 2533 ได้ชำระหนี้อีก 6,000,000 บาท คงเหลือหนี้396,052,262.66 บาท โจทก์เป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงไทย จำกัดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ธนาคารกรุงไทยจำกัด เข้าควบคุมการดำเนินงานเพื่อนำผลกำไรชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ 2 เคยขอไถ่ถอนจำนองแต่โจทก์ไม่ยินยอม หนี้ของจำเลยที่ 1 ยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวและบังคับจำนองจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 4ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้เดิม จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน171,990,236.87 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 109,767,854.61 บาท นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2532จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 206,126,209.39 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 109,880,000 บาท นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2533จนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสามในหนี้ดังกล่าวจำนวน 91,925,000 บาท หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11308, 10947, 105, 608, 609, 7085, 7086,7183, 11213, 18543, 15265 และ 7082 ที่ดินโฉนดเลขที่ 15166 และที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 342 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี จากต้นเงิน 91,925,000 บาท นับแต่วันที่28 ธันวาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้หักเงิน6,000,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2533ออกเสียก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมนางเพ็ญศรีเริงประเสริฐวิทย์ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 โดยอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินและค้ำประกันจำเลยที่ 1 ที่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.26 และ จ.27 หนังสือรับสภาพหนี้ทั้งสองฉบับดังกล่าว มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้หนี้เดิมที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับโจทก์ ที่จำเลยที่ 4ได้ค้ำประกันไว้ก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 4จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า การทำหนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะทำให้หนี้นั้นระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 4 ยังคงผูกพันในฐานะตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 4ทำไว้กับโจทก์
พิพากษายืน