คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ว.ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพูดกับโจทก์ว่าคุณออกไปวันนี้เลย ย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานที่บริษัทจำเลยอีกต่อไป การที่หลังจากนั้นโจทก์ไม่ไปทำงานที่บริษัทจำเลยอีกต้องถือว่าจำเลยสั่งไม่ให้โจทก์ไปทำงานแต่การที่จำเลยยังจ่ายเงินเดือนงวดวันที่ 16 ธันวาคม 2539วันที่ 27 ธันวาคม 2539 และวันที่ 15 มกราคม 2540 ให้แก่โจทก์แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ ประกอบกับบริษัทจำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยการไล่พนักงานออกจะต้องมีมติจากที่ประชุม เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไล่ออกโดยให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดสำหรับกรณีของโจทก์เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยมีหนังสือเรื่องเตือนการขาดงานไปยังโจทก์โดยระบุในหนังสือทั้งสามฉบับดังกล่าวว่าโจทก์ขาดงานโดยเฉพาะฉบับสุดท้ายมีข้อความระบุว่าจำเลยคงจำเป็นที่จะต้องทำตามกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยต่อไปนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์และโจทก์ไม่ได้ไปทำงานที่บริษัทจำเลยเป็นเพราะว. เป็นผู้สั่งให้โจทก์ไม่ต้องไปทำงานอีก การทีโจทก์ไม่ไปทำงานต้องถือว่าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของ ว.ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย หรือเท่ากับว่าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยนั้นเอง ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ขาดงาน และการออกหนังสือเตือนการขาดงานดังกล่าวทั้งสามฉบับของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือเตือนการขาดงานเมื่อจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์และยังไม่ได้มีหนังสือเตือนการขาดงาน โจทก์ก็ยังมีฐานะ เป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่และยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดไปจนกว่าความเป็นลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจะหมดไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์2533 ตำแหน่งที่ปรึกษา ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ65,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 22 วันเป็นเงิน 47,666 บาท ทั้งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขากรายได้ประจำต้องใช้เวลาหางานใหม่เป็นเวลานาน โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน1,560,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 47,666 บาท ค่าชดเชยจำนวน 390,000 บาทและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน1,560,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยได้เรียกโจทก์เข้ามาว่ากล่าวตักเตือนเรื่องที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ และไม่ตั้งใจทำงาน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโจทก์ไม่พอใจ บอกขอลาออกและออกจากบริษัทจำเลยไปจำเลยได้พยายามติดต่อให้โจทก์กลับมาทำงานแต่โจทก์กลับเพิกเฉยระหว่างที่โจทก์ขาดงานนั้น จำเลยยังจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตามปกติ จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ขาดงานหรือลาออกจากงานเองจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวน 390,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 เวลา 9 นาฬิกาเศษโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดของจำเลยมีเรื่องโต้เถียงกับนายวิฑูร ตั้งศักดิ์สถิตย์ กรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย และนายวิฑูรย์พูดกับโจทก์ว่าคุณออกไปวันนี้เลย โจทก์จึงเก็บสิ่งของส่วนตัวซึ่งอยู่ที่บริษัทจำเลยแล้วออกจากบริษัทจำเลยไปและไม่เข้าไปทำงานที่บริษัทจำเลยอีกแต่จำเลยยังจ่ายเงินเดือนงวดวันที่16 ธันวาคม 2539 วันที่ 27 ธันวาคม 2539 และวันที่15 มกราคม 2540 ให้แก่โจทก์และโจทก์ก็ได้รับไปแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ เรื่องนี้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสองบัญญัติว่า การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ฯลฯ เห็นว่าการที่นายวิฑูรซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพูดกับโจทก์ว่าคุณออกไปวันนี้เลย ย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานที่บริษัทจำเลยอีกต่อไป การที่หลังจากนั้นโจทก์ไม่ไปทำงานที่บริษัทจำเลยอีกต้องถือว่าจำเลยสั่งไม่ให้โจทก์ไปทำงาน แต่การที่จำเลยยังจ่ายเงินเดือนงวดวันที่ 16 ธันวาคม 2539 วันที่ 27 ธันวาคม 2539 และ วันที่ 15 มกราคม 2540 ให้แก่โจทก์แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ประกอบกับบริษัทจำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยการไล่พนักงานออกจะต้องมีมติจากที่ประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไล่ออกโดยให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดสำหรับกรณีของโจทก์จำเลยยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวจึงต้องถือว่าจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ส่วนที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 2 มกราคม 2540 วันที่ 7 มกราคม 2540 และวันที่10 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.10 ถึง ล.12 เรื่องเตือนการขาดงานไปยังโจทก์ โดยระบุในหนังสือว่าโจทก์ขาดงานโดยเฉพาะฉบับสุดท้ายเอกสารหมาย ล.12 ที่มีข้อความระบุว่าจำเลยคงจำเป็นที่จะต้องทำตามกฎระบียบข้อบังคับของจำเลยต่อไปนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์และการที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานที่บริษัทจำเลยเป็นเพราะนายวิฑูรเป็นผู้สั่งให้โจทก์ไม่ต้องไปทำงานอีก การที่โจทก์ไม่ไปทำงานต้องถือว่าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของนายวิฑูรซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย หรือเท่ากับว่าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยนั้นเอง ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ขาดงาน การออกหนังสือเตือนการขาดงานดังกล่าวทั้งสามฉบัับของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือเตือนการขาดงาน เมื่อจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์และยังไม่ได้มีหนังสือเตือนการขาดงานโจทก์ก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่และยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างคือเงินเดือนตั้งแต่งวดสิ้นเดือนมกราคม 2540 ตลอดมาจนกว่าความเป็นลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจะหมดไปที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share