แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าฝ่ายโจทก์ร่วมตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตลอดไป แต่กลับมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ร่วม โดยจำเลยจะต้องไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะอีกต่อไป แสดงว่าโจทก์ร่วมจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปพูดให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยได้ประกาศต่อที่ประชุมใหญ่บริเวณหมู่บ้านว่า โจทก์ร่วมไปขโมยปลา และประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านให้ชาวบ้านนำไข่เน่าไปปาหน้าบ้านโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ย่อมเห็นได้ชัดว่า ถ้าจำเลยนำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะ โจทก์ร่วมยังคงติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสุณีย์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 จำคุก 1 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) หรือไม่ เห็นว่า รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน มีข้อความว่าโจทก์ร่วมและจำเลยพากันไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อเจรจาตกลงกันกรณีเมื่อวันที่ 9กรกฎาคม 2551 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยเข้าไปจับกุมโจทก์ร่วมที่เข้าไปหาปลาในเขตหวงห้ามแล้วจำเลยพยายามกระทำอนาจารโจทก์ร่วมและพากันมาทำความตกลงกันแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจผิดกันเองและไม่ติดใจเอาความกันอย่างใด โจทก์ร่วมรับว่าจะไม่เข้าไปหาปลาในเขตหวงห้าม และจำเลยรับว่าจะไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะอีกต่อไป หากไม่มีความผิดต่อระเบียบของหมู่บ้าน ทั้งสองฝ่ายรับว่าจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวเรื่องส่วนตัวของแต่ละฝ่าย หากผู้ใดไปก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้อีกฝ่ายหนึ่งยินดีที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ดังนี้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าฝ่ายโจทก์ร่วมตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตลอดไป แต่กลับมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ร่วมโดยจำเลยจะต้องไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะอีกต่อไป แสดงว่าโจทก์ร่วมจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปพูดให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยได้ประกาศต่อที่ประชุมใหญ่บริเวณหมู่บ้านว่า โจทก์ร่วมไปขโมยปลา และประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนำไข่เน่าไปปาหน้าบ้านโจทก่ร่วม โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ย่อมเห็นได้ชัดว่า ถ้าจำเลยนำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะ โจทก์ร่วมยังคงติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมและขอให้รอการลงโทษจำคุก แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี