คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับฝากสินค้าที่พิพาทโดยมีบำเหน็จ แม้จำเลยได้ดำเนินการจัดเก็บสินค้าเต็มความสามารถโดยจัดเก็บสินค้าอันตรายตามระบบซึ่งสำนักที่ปรึกษาทางทะเลระหว่างประเทศเป็นผู้กำหนดใช้ในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกทั่วโลก นอกจากนี้จำเลยยังได้วางข้อกำหนดในเรื่องความปลอดภัยกวดขันการสูบบุหรี่ จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยตลอด24 ชั่วโมง จัดให้มีเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติประจำทุกอาคารซึ่งเป็นไปตามหลักสากลก็ตาม แต่จำเลยมิได้นำสืบว่าในการจัดเก็บสินค้ารายพิพาทนี้ได้จัดเก็บตามระบบอย่างไรได้แยกสินค้าให้ถูกต้องตรงตามระบบการจัดเก็บหรือไม่และได้ตรวจสอบสิ่งที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาของสารเคมีโดยปลอดภัยแล้วหรือไม่ กลับปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ได้มีการเปิดคลังสินค้าอันตรายเพื่อทำงาน แม้ขณะเกิดเพลิงไหม้จะมีแต่เฉพาะพนักงานของจำเลยอยู่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อจำเลยมิได้นำสืบเลยว่า จำเลยได้ป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่สินค้า อันตรายด้วยการควบคุมดูแลคลังสินค้าอันตรายในขณะที่มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นดีแล้วหรือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานนั้นไม่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ไม่ว่าในกรณีใด กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้นั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย มิใช่ความประมาทของจำเลยเมื่อจำเลยรับฝากสินค้าอันตรายไว้ในทางธุรกิจของจำเลยจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในทางธุรกิจของตนที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายหรือเพลิงไหม้ขึ้นได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือที่จำกัดความรับผิดไม่เกิน 5,000 บาท ได้ออกโดย อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 มาตรา 29(1) และมาตรา 9(4) ที่ให้คณะกรรมการวางข้อบังคับระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือเท่านั้น กฎหมายหาได้ให้อำนาจออกข้อบังคับจำกัดความรับผิดค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดทั้งข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้น ฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในข้อจำกัดความรับผิดนั้น จำเลยจึงไม่อาจยกข้อจำกัดความรับผิดในข้อบังคับดังกล่าวนั้นขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ร่วมกันประกอบธุรกิจขนส่งสินค้า โดยจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการติดต่อธุรกิจการขนส่งในประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อ “เตาเจียง”และจำเลยที่ 4 ประกอบธุรกิจรับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จกล่าวคือบริษัทไทยโพลีฟอสเฟตและเคมีภัณฑ์ จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้านำเข้าสารเคมีกรดฟอสฟอริคจำนวน 2,860 ถัง โดยได้เอาประกันไว้กับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 1,223,907.69 บาทสินค้าทั้งหมดขนส่งโดยเรือ “เตาเจียง” จากเมืองเซี่ยงไฮ้มายังกรุงเทพมหานครมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบตราส่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อระเบียบทางเรือเพื่อให้เรือเดินทะเลเข้ามาส่งสินค้าในประเทศไทยได้ เรือ “เตาเจียง” เข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2534 และได้ขนถ่ายสินค้าเข้าฝากเก็บในโรงพักสินค้าของจำเลยที่ 4 เพื่อเตรียมรอส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทไทยโพลีฟอสและเคมีภัณฑ์ จำกัด ต่อมาด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 ก่อให้เกิดเพลิงไหม้สินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 224,069.25 บาทโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทโพลีฟอสเฟตและเคมีภัณฑ์จำกัด ผู้เอาประกันภัยไป เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534เป็นเงินทั้งสิ้น 224,069.25 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ โจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน224,069.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 224,069.25 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4ประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 รับฝากสินค้าที่พิพาทโดยมีบำเหน็จ ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ดำเนินการจัดเก็บสินค้าเต็มความสามารถโดยจัดเก็บสินค้าอันตรายตามระบบซึ่งสำนักที่ปรึกษาทางทะเลระหว่างประเทศเป็นผู้กำหนด และใช้ในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกทั่วโลกตามเอกสารหมาย ล.15 ล.16นอกจากนี้จำเลยที่ 4 ยังได้วางข้อกำหนดในเรื่องความปลอดภัยกวดขันการสูบบุหรี่ จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงจัดให้มีเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติประจำทุกอาคารซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ตามเอกสารหมาย จ.17 จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวเป็นการวางระเบียบและมาตรการทั่วไปไว้ให้จำเลยที่ 4 ต้องปฏิบัติเท่านั้นแต่จำเลยที่ 4 มิได้นำสืบเลยว่าในการจัดเก็บสินค้ารายพิพาทนี้ได้จัดเก็บตามระบบอย่างไร ได้แยกสินค้าให้ถูกต้องตรงตามระบบการจัดเก็บหรือไม่ และได้ตรวจสอบสิ่งที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาของสารเคมีโดยปลอดภัยแล้วหรือไม่ แต่ปรากฏจากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.19 สำนวนการสอบสวนกรณีเหตุเกิดเพลิงไหม้สินค้าพิพาทว่า ในวันเกิดเหตุได้มีการเปิดคลังสินค้าอันตรายคลังที่ 3 เพื่อทำงาน เพราะมีเจ้าของสินค้าอันตรายนำสินค้าออกจากคลังสินค้าอันตรายและมีการนำสินค้าอันตรายจากโรงพักสินค้าต่าง ๆ เข้ามาเก็บในคลังสินค้าอันตรายโดยมีพนักงานขับรถหลายคนปฏิบัติงานในบริเวณคลังสินค้าอันตรายคือ นายนิติกร รักกิจ นายสุจินต์ ดวงทิมนายภู่ เลี่ยมเจริญ ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณคลังสินค้าที่ 3ซึ่งเป็นคลังสินค้าต้นเพลิง แม้ขณะเกิดเพลิงไหม้จะมีแต่เฉพาะพนักงานของการท่าเรืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 4มิได้นำสืบเลยว่า จำเลยได้ป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่สินค้าอันตรายด้วยการควบคุมดูแลคลังสินค้าอันตรายในขณะที่มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นดีแล้ว หรือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานนั้นไม่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ไม่ว่าในกรณีใด กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้นั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยมิใช่ความประมาทของจำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 4 รับฝากสินค้าอันตรายไว้ในทางธุรกิจของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในทางธุรกิจของตนที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายหรือเพลิงไหม้ขึ้นได้ จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อจำกัดความรับผิดที่กำหนดให้รับผิดไม่เกิน 5,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.21 ข้อ 58มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้จำเลยที่ 4ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับฝากทรัพย์ซึ่งอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 ซึ่งผู้รับฝากใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติเท่านั้น จำเลยที่ 4 มิใช่ผู้ขนส่งจึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 ข้อจำกัดความรับผิดจึงไม่เป็นโมฆะ และใช้บังคับได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4จะอ้างข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 4 ว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆของกิจการท่าเรือตามเอกสารหมาย ล.21 ข้อ 58 หาได้ไม่เพราะข้อบังคับดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 29(1) และมาตรา 9(4) ที่ให้คณะกรรมการวางข้อบังคับระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ หาได้ให้อำนาจออกข้อบังคับจำกัดความรับผิดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดทั้งข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยที่ 4 เป็นผู้กำหนดขึ้นฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในข้อจำกัดความรับผิดนั้น จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจยกขึ้นอ้างได้
พิพากษายืน

Share