แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องของโจทก์ว่า “นัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์นำส่งหมายให้จำเลยภายใน 7 วัน ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 5 วันมิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” และสั่งคำร้องขอส่งหมายนัดแก่จำเลยข้ามเขตซึ่งโจทก์ได้ขออนุญาตให้ปิดหมายด้วยว่า “จัดการให้ให้ส่งโดยวิธีธรรมดาก่อนเนื่องจากไม่ปรากฏต้นฉบับหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1″ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชัดแจ้งอยู่แล้วเมื่อปรากฏว่าโจทก์ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของศาลส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสองโดยวิธีปิดหมายผิดไปจากคำสั่งของศาลอันเป็นการส่งที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นจึงสั่งในรายงานการส่งหมายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2539 ว่า”ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ปิดหมาย การส่งหมายไม่ชอบ รอโจทก์แถลง” และเจ้าหน้าที่ศาลได้มีหนังสือแจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้ทนายโจทก์ทราบในวันเดียวกันโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและทนายโจทก์ได้รับหนังสือนั้นแล้ว ในหนังสือมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า “เป็นการส่งหมายไม่ชอบ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้ปิดหมาย”ดังนั้น โจทก์ย่อมทราบและเข้าใจดีตั้งแต่วันรับหนังสือนั้นว่ายังส่งหมายให้จำเลยโดยชอบไม่ได้ จะต้องมีการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยใหม่ และโจทก์ต้องแถลงให้ศาลทราบภายใน 5 วัน แม้ศาลจะไม่ได้กำหนดให้โจทก์แถลงภายในกี่วันก็มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าให้แถลงภายใน 5 วันตามคำสั่งศาลที่ได้ให้ไว้ และโจทก์ได้ทราบแล้วตั้งแต่แรกตามที่ได้วินิจฉัยมาโดยศาลไม่จำต้องสั่งให้โจทก์แถลงภายในกี่วันซ้ำอีก แต่โจทก์กลับเพิกเฉยจนล่วงเลยกำหนดเวลามาหลายวัน มิได้แถลงให้ศาลทราบ เหตุนี้เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2539 เรื่องที่โจทก์มิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นภายในเวลา ที่กำหนด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534 มาตรา 4 และยื่นคำร้องในวันเดียวกันขอให้ส่งหมายนัดแก่จำเลยข้ามเขต เพราะจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครใต้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันนั้นสำหรับคำฟ้องว่า”นัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์นำส่งหมายให้จำเลยภายใน 7 วันส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 5 วัน มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” และมีคำสั่งในวันนั้นเช่นกันสำหรับคำร้องว่า “จัดการให้ ให้ส่งโดยวิธีธรรมดาก่อน เนื่องจากไม่ปรากฏต้นฉบับหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1″ต่อมาเจ้าพนักงานศาลแขวงพระนครใต้ได้เสนอรายงานการส่งหมายลงวันที่ 17 กันยายน 2539 ต่อศาลว่า ได้ส่งหมายให้จำเลยทั้งสองโดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 24กันยายน 2539 ว่า “ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ปิดหมาย การส่งหมายไม่ชอบ รอโจทก์แถลง” ครั้นวันที่ 10 ตุลาคม 2539 เจ้าพนักงานศาลทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลว่า โจทก์ยังมิได้แถลงตามที่ศาลมีคำสั่งไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า”ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้สั่งคำฟ้องและคำร้องขอส่งหมายนัดแก่จำเลยข้ามเขตของโจทก์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องและคำร้อง ท้ายคำฟ้องและคำร้องมีข้อความว่าข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว และมีลายมือชื่อของโจทก์และทนายโจทก์ลงไว้ โดยเฉพาะที่ท้ายคำฟ้องหน้าแรก ที่ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องไว้วันที่ 17 ตุลาคม 2539 เวลา 9.00 นาฬิกานั้น ทนายโจทก์ก็ได้ลงลายมือชื่อซ้ำไว้อีก 1 แห่ง แสดงให้เห็นว่าทั้งโจทก์และทนายโจทก์ทราบคำสั่งของศาลที่สั่งคำฟ้องและคำร้องดังกล่าวของโจทก์ตั้งแต่วันนั้นแล้ว เป็นหน้าที่ของโจทก์หรือทนายโจทก์จะต้องปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องของโจทก์ว่า “นัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์นำส่งหมายให้จำเลยภายใน 7 วันส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 5 วันมิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” และสั่งคำร้องขอส่งหมายนัดแก่จำเลยข้ามเขตซึ่งโจทก์ได้ขออนุญาตให้ปิดหมายด้วยว่า “จัดการให้ ให้ส่งโดยวิธีธรรมดาก่อนเนื่องจากไม่ปรากฏต้นฉบับหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1” ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชัดแจ้งอยู่แล้วเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ปล่อยให้เจ้าหน้าทีของศาลส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสองโดยวิธีปิดหมายผิดไปจากคำสั่งของศาลอันเป็นการส่งที่ไม่ชอบศาลชั้นต้นจึงสั่งในรายงานการส่งหมายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2539ว่า “ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ปิดหมาย การส่งหมายไม่ชอบ รอโจทก์แถลง”และเจ้าหน้าที่ศาลได้มีหนังสือแจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้ทนายโจทก์ทราบในวันเดียวกันโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและทนายโจทก์ได้รับหนังสือนั้นแล้วในหนังสือมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า “เป็นการส่งหมายไม่ชอบ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้ปิดหมาย” ดังปรากฏตามหลักฐานท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนั้น โจทก์ย่อมทราบและเข้าใจดีตั้งแต่วันรับหนังสือนั้นว่ายังส่งหมายให้จำเลยโดยชอบไม่ได้จะต้องมีการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยใหม่ และโจทก์ต้องแถลงให้ศาลทราบภายใน 5 วัน แม้ศาลจะไม่ได้กำหนดให้โจทก์แถลงภายในกี่วันก็มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าให้แถลงภายใน 5 วัน ตามคำสั่งศาลที่ได้ให้ไว้และโจทก์ได้ทราบแล้วตั้งแต่แรกตามที่ได้วินิจฉัยมาโดยศาลไม่จำต้องสั่งให้โจทก์แถลงภายในกี่วันซ้ำอีก แต่โจทก์กลับเพิกเฉยจนล่วงเลยกำหนดเวลามาหลายวันมิได้แถลงให้ศาลทราบ เหตุนี้เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2539 เรื่องที่โจทก์มิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว
พิพากษายืน