แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมแจ้งความว่าจำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1ให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ยืนยันในชั้นสอบสวนว่าสามารถปฏิบัติการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ร่วมได้เมื่อได้รับชำระเงินงวดสุดท้ายจากโจทก์ร่วม พนักงานสอบสวนจึงเห็นว่ากรณียังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ร่วมกล่าวหาจึงบันทึกเป็นหลักฐานไว้ในรายงานประจำวันซึ่งมีผลเป็นเพียงบันทึกเบื้องต้นหาได้เป็นความเห็นชัดเจนเด็ดขาดว่าเป็นเพียงความรับผิดทางแพ่งแต่ประการใดไม่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ร่วมตามที่ได้ยืนยันตกลงกับโจทก์ร่วมไว้ในเอกสารดังกล่าวฉะนั้น การที่โจทก์ร่วมมาร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาด้วยเหตุที่ความจริงแล้วจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาให้แก่บุคคลอื่นไปและไม่สามารถนำมาโอนให้แก่โจทก์ร่วมได้อีก ย่อมเป็นกรณีที่มีมูลความผิดทางอาญาที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจและชอบที่จะดำเนินการสอบสวนเป็นคดีอาญาได้ ข้อความที่ปรากฏในเอกสารรายงานประจำวันดังกล่าวข้างต้นมีผลเป็นเพียงจำเลยได้ตกลงกำหนดนัดวันเวลาที่จะไปโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์ให้โจทก์ร่วมและรับชำระเงินงวดสุดท้ายจากโจทก์ร่วมอันเป็นเพียงการยืนยันจะปฏิบัติตามนิติสัมพันธ์ที่ก่อไว้ตามสัญญาจะซื้อจะขายเดิมเท่านั้น หาได้มีข้อความใด ๆที่มีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความระงับสิทธิในการฟ้องคดีอาญาของโจทก์ร่วมแต่ประการใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ ช.4569/2531 ของศาลอาญา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายสมบูรณ์ โล่วีรวุฒิ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ ช.4569/2531 ของศาลอาญา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก้ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี แต่มีผู้พิพากษาลงนามเพียงคนเดียว ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 วรรคท้ายพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ ช.4569/2531 ของศาลอาญาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2654/2532 (ที่ถูกเป็นคดีหมายเลขดำที่ 5051/2531 แต่ไม่ปรากฏหมายเลขแดง) เมื่อฟังว่าฟ้องโจทก์ (ที่ถูก และโจทก์ร่วม) คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำปัญหาตามฎีกาของโจทก์ (ที่ถูก และโจทก์ร่วม) ที่ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยังไม่สมควรวินิจฉัย พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นไว้ในการรับแจ้งความตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.18 เมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2531 ว่า กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนย่อมไม่มีนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข้อความในเอกสารหมาย จ.18 สรุปได้ว่าโจทก์ร่วมได้มาแจ้งความระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว พนักงานสอบสวนจึงได้เรียกจำเลยที่ 2 มาในวันเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าสามารถปฏิบัติการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ร่วมได้เมื่อได้รับชำระเงินงวดสุดท้ายจากโจทก์ร่วมพนักงานสอบสวนจึงเห็นว่ากรณียังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ร่วมกล่าวหา จึงบันทึกเป็นหลักฐานไว้ ซึ่งมีผลเป็นเพียงบันทึกเบื้องต้น หาได้เป็นความเห็นชัดเจนเด็ดขาดว่าเป็นเพียงความรับผิดทางแพ่งแต่ประการใดไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อมาจำเลยที่ 2 ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ร่วมตามที่ได้ยืนยันตกลงกำหนดนัดกับโจทก์ร่วมไว้ในเอกสารหมาย จ.18 นั้น และโจทก์ร่วมได้มาร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนคดีอาญาด้วยเหตุที่ความจริงแล้วจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วไม่สามารถนำมาโอนให้แก่โจทก์ร่วมได้อีก ย่อมเป็นกรณีที่มีมูลความผิดทางอาญาที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจและชอบที่จะดำเนินการสอบสวนเป็นคดีอาญาได้ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า คดีได้ระงับไปด้วยการประนีประนอมยอมความตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.18 นั้น ข้อความที่ปรากฏมีผลเป็นเพียงจำเลยได้ตกลงกำหนดนัดวันเวลาที่จะไปโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ให้โจทก์ร่วมและรับชำระเงินงวดสุดท้ายจากโจทก์ร่วมในวันเดียวกัน อันเป็นเพียงการยืนยันจะปฏิบัติตามนิติสัมพันธ์ที่ก่อไว้ตามสัญญาจะซื้อจะขายเดิมเท่านั้นหาได้มีข้อความใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความระงับสิทธิในการฟ้องคดีอาญาของโจทก์ร่วมแต่ประการใดไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน