คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5185/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยครั้งแรกว่า ศาลชั้นต้นชอบที่จะต้องไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์ทั้งสี่ให้ได้ความเสียก่อนว่าเป็นความจริงตามคำร้อง ของ โจทก์ทั้งสี่หรือไม่อย่างไรหากฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 และ 43799เป็นที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย และจำเลยยังไม่ได้ขายเพื่อนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสี่และทายาทภายในกำหนดสัญญา โจทก์ทั้งสี่ก็ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้และพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นครั้งแรก ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์ทั้งสี่แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว จึงถึงที่สุด ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์ทั้งสี่และมีคำสั่งใหม่แล้วดังนี้ ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่จะสามารถอ้างสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม เพราะเหตุมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 ออกเป็นแปลงย่อยหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกแล้วว่าโจทก์ทั้งสี่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมได้ จำเลยจึงไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาฎีกาได้อีก ในชั้นบังคับคดีศาลย่อมมีอำนาจบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตามที่เป็นจริงได้ แม้โจทก์และจำเลยจะมิได้ฎีกาเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 โดยจำเลยคงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 และ 43799 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละหนึ่งในหกส่วนก็ตาม แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 43798เป็นที่ดินที่แยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ และโจทก์ทั้งสี่ได้แก้ฎีกาว่าที่ดินทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 ด้วย ดังนั้นศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากระหว่างพิจารณาคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 ว่า
ข้อ 1. จำเลยยินยอมที่จะนำที่ดินพิพาทออกขาย เพื่อนำเงินมาแบ่งกับโจทก์และทายาทคนละส่วนเท่า ๆ กัน ในราคาขายไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของที่ดินจังหวัด หรือที่คู่ความสองฝ่ายยอมรับภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่โฉนดที่ดินเสร็จเรียบร้อย
ข้อ 2. โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินที่ขายได้เป็นค่าธรรมเนียมและค่าภาษีที่ดินพิพาท
ข้อ 3. หากจำเลยขายที่ดินพิพาทได้แล้ว ในการแบ่งส่วนแก่ทายาททุกคน โจทก์ทั้งสี่และจำเลยยอมให้หักส่วนแบ่งคนละ 15,000 บาทเพื่อจัดงานศพของบิดามารดาโดยจำเลยยอมให้นางสมจิตร บุตรเสือเป็นผู้ร่วมจัดงานศพด้วย
ข้อ 4. หากจำเลยดำเนินการขายที่ดินพิพาทภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ไม่ได้ จำเลยจึงยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีตามฟ้องโดยจำเลยยอมให้โจทก์ใส่ชื่อเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทได้และหากจำเลยไม่ไปดำเนินการจดทะเบียน ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดเลขที่ 5826, 43798 และ 43799 วางศาลเพื่อบังคับคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นนัดพร้อมวันที่ 25 มิถุนายน 2533 คู่ความแถลงรับว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 ได้แบ่งแยกออกเป็น 11 โฉนด หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสี่แถลงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5826, 43795, 43798, 43799 เป็นทรัพย์มรดกจำเลยโต้แย้งว่าได้ขายที่ดินตามคำพิพากษาและโจทก์ทั้งสี่รับเงินไปแล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยได้ไปตกลงวิธีการปฏิบัตินอกสัญญาประนีประนอมยอมความโดยแบ่งแยกที่ดินส่วนพิพาทออกเป็นแปลงย่อยนอกเหนือจากที่ตกลงกันตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่สามารถบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมได้ โจทก์ทั้งสี่ต้องไปว่ากล่าวจำเลยเป็นคดีใหม่ ให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์ทั้งสี่ฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 และ 43799 เป็นที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดเลขที่ 5826 และ 43799 ตำบลไทรใหญ่ อำเภอ บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี รวมกันแล้วคนละหนึ่งในหกส่วน หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสี่ จำเลยและนางลำจวน ทับแถบ เป็นบุตรของนายบุญ แป้นเพชร หรือแป้นเพ็ชรเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 เอกสารหมาย ร.3 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายบุญมีเนื้อที่ 49 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เมื่อวันที่ 29 กันยายน2519 นายบุญยินยอมให้บุตรดังกล่าวถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินกล่าวคือโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนางลำจวน คนละ 2,000 ส่วนโจทก์ที่ 3 จำนวน 4,200 ส่วน และจำเลยจำนวน 2,200 ส่วน จากจำนวน 19,940 ส่วน ต่อมานายบุญยินยอมให้นายสังข์ คงเรืองถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของนายบุญจำนวน 2,000 ส่วน ในจำนวน5,540 ส่วน และเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2524 ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมทั้งหมดแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ จำนวน 5 ไร่ 2 งาน42 ตารางวา คงเหลือที่ดินเนื้อที่ 44 ไร่ 98 ตารางวา ต่อมานายบุญถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญตามคำสั่งศาลแล้วจำเลยจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายบุญในฐานะผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งสี่ จำเลย นางลำจวนและนายสังข์ถือกรรมสิทธิ์รวมคงเดิม และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุญโอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายบุญมาเป็นจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว ต่อมาที่ดินคงเหลือดังกล่าวถูกหักเป็นคลองสาธารณประโยชน์ ทางสาธารณประโยชน์และคลองขุนศรีบางส่วนทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเอกสารหมาย ร.3 โดยแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 43790 ถึง 43800 และโฉนดเลขที่ 5826 ในส่วนที่ดินที่คงเหลือซึ่งมีจำนวน 3 งาน15 ตารางวา นอกจากนั้นมีการแก้จำนวนเนื้อที่ที่ดินคงเหลือจากจำนวนใหม่ได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนในเอกสารหมาย ร.3 โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ระหว่างพิจารณาคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเอกสารหมาย ร.3 โดยแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 43790 ถึง 43800 และโฉนดเลขที่ 5826 ในส่วนที่ดินที่คงเหลือดังกล่าวมาแล้ว จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 43795 เนื้อที่ 3 ไร่ 66 ตารางวา และนำเงินที่ขายได้มาแบ่งให้แก่ทายาทของนายบุญ แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าเมื่อได้มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 ออกเป็นแปลงย่อย ๆ นอกเหนือจากที่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยตกลงกันตามคำพิพากษาตามยอมแล้วโจทก์ทั้งสี่จะสามารถอ้างสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมได้อีกต่อไปหรือไม่ และจำเลยจะต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดเลขที่ 5826 และ 43799 รวมกันแล้วคนละหนึ่งในหกส่วน หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ดังคำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งหลังหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยครั้งแรกว่า ศาลชั้นต้นชอบที่จะต้อง ไต่สวนคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ให้ได้ความเสียก่อนว่าเป็นความจริงตามคำร้องของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่อย่างไร หากฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 และ 43799 เป็นที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย และจำเลยยังไม่ได้ขายเพื่อนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสี่และทายาทภายในกำหนดสัญญา โจทก์ทั้งสี่ก็ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้และพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นครั้งแรกให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว จึงถึงที่สุดซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์ทั้งสี่และมีคำสั่งใหม่แล้ว ดังนี้ ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่จะสามารถอ้างสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม เพราะเหตุมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 ออกเป็นแปลงย่อยหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกแล้วว่าโจทก์ทั้งสี่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมได้ จำเลยจึงไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาฎีกาได้อีก
สำหรับฎีกาของจำเลยประการหลังนั้น เห็นว่า ในชั้นบังคับคดีศาลย่อมมีอำนาจบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตามที่เป็นจริงได้ แม้โจทก์และจำเลยจะมิได้ฎีกาเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 โดยจำเลยคงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 และ 43799 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละหนึ่งในหกส่วนก็ตาม แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 43798เป็นที่ดินที่แยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ และโจทก์ทั้งสี่ได้แก้ฎีกาว่าที่ดินทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 ด้วย ดังนั้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 ได้ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายังมีที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายบุญอีกจำนวน 2 แปลง ที่ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ไว้เพื่อให้จำเลยนำไปขายเอาเงินมาแบ่งกันระหว่างทายาทแต่จำเลยยังไม่ได้ขาย และที่ดินจำนวน 2 แปลง ดังกล่าวก็คือที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 และ 43799 นั่นเอง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอันเป็นทรัพย์พิพาทที่ต้องแบ่งให้โจทก์ทั้งสี่และทายาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ไม่ใช่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5826 ด้วยดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งหลังแต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 43798 และ 43799 ตำบลไทรใหญ่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี รวมกันแล้วคนละหนึ่งในหกส่วนหากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น

Share