คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4746/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะมีข้อยกเว้นทั่วไป ระบุว่าการประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่เคยได้รับอนุญาตขับรถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วัน ก็ตาม แต่มีข้อสัญญาพิเศษระบุว่า “บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือเงื่อนไขทั่วไปเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1หรือข้อ 2.2 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัท ทันที”ดังนั้นจำเลยร่วมจะยกเอาเหตุที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยขาดต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกินกว่า 180 วันมาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ได้แต่ยกขึ้นว่ากล่าวเอากับผู้เอาประกันภัยเท่านั้นจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายบุญชูกับนางแม้นมาสหรือแม้นมาศ เทซะ โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาของนางแม้นมาส เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2535 เวลาประมาณ 20 นาฬิกานายบุญชูขับรถจักรยานยนต์โดยมีโจทก์ที่ 1 และนางแม้นมาสนั่งซ้อนท้ายไปตามถนนสายยางเกาะ-สันทราย มุ่งหน้าไปทางตำบลสันทราย กิ่งอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรีโดยขับรถจักรยานยนต์ชิดด้านซ้ายของถนนด้วยความเร็วตามปกติเมื่อขับรถจักรยานยนต์ถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 21-22 มีรถกระบะหมายเลขทะเบียน ข-2920 ของจำเลยที่ 2 ขับโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ติดตามมาด้วยความเร็วโดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ และด้วยความประมาทเลินเล่อได้พุ่งเข้าชนด้านหลังรถจักรยานยนต์คันที่นายบุญชูคันที่นายบุญชูขับจนตกถนนเป็นเหตุให้นายบุญชูได้รับบาดเจ็บ โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสและเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง นางแม้นมาสถึงแก่ความตายในวันดังกล่าว การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ต้องเข้าโรงพยาบาลรับการรักษาและทำกายภาพบำบัดรวมค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 14,483 บาท การที่โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสและเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างพิการไปจนตลอดชีวิตต้องเข้ารักษาร่างกายทางภายภาพบำบัดต่อไปอีกอย่างน้อย 10 ปี ขอคิดค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้อีกจำนวน 200,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1ทั้งสิ้น 214,483 บาท โจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพและจัดงานศพนางแม้นมาสเป็นเงินทั้งสิ้น 20,000 บาท ขณะนางแม้นมาสยังมีชีวิตอยู่ได้ส่งเสียอุปการะโจทก์ที่ 2เดือนละ 1,000 บาท โจทก์ที่ 2 ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา10 ปี คิดเป็นเงิน 120,000 บาท จำเลยที่ 1 ในฐาน ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 214,483 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 120,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันทำงานอยู่ที่ท่าทรายของจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่ที่ตำบลกลอนโดกิ่งอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ที่เกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ไปใช้โดยพลการนอกทางการที่จ้าง ทั้งเวลาเกิดเหตุเป็นภายหลังเวลาเลิกงานของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทและฝ่าฝืนกฎหมายของฝ่ายโจทก์ เพียงฝ่ายเดียว คือ รถจักรยานยนต์คันที่นายบุญชูบิดาของโจทก์ที่ 1 ขับเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรมไม่มีทะเบียน และไม่มีไฟส่องสัญญาณด้านท้ายรถตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งไม่อาจจะนำมาใช้ขับบนท้องถนน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถมองเห็นและหลบหลีกได้ทันตามวิสัยและพฤติการณ์ในขณะขับรถยนต์มาตามปกติจนเกิดชนกันขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมรับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ข-2920 กรุงเทพมหานคร (ป้ายแดง)ไว้จากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุจำเลยร่วมจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ระหว่างระยะเวลาประกันภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของจำเลยร่วมต่อโจทก์ทั้งสองหากจะมีก็ไม่เกินจำนวนคนละ 50,000 บาท แต่เหตุรถชนกันในคดีนี้จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เพราะขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในฐานะลูกจ้าง และไม่ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หากแต่จำเลยที่ 1นำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้โดยพลการ จำเลยร่วมจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย และตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยมีเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดของจำเลยร่วมอยู่ว่า ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ แต่จำเลยที่ 1 ขาดต่อใบอนุญาตขับรถยนต์เกิน 180 วัน ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ กล่าวคือ ใบอนุญาตขับรถของจำเลยที่ 1 ได้สิ้นอายุไปตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2533 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (วันที่ 29 ตุลาคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน164,483 บาท และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน164,483 บาท และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน140,000 บาท โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละ 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยร่วมฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อเดียวว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเพราะตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13 และข้อ 2.13.6 เอกสารหมาย ล.2ยกเว้นไว้ ปรากฏว่าคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่ากรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13.6 กำหนดว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่เคยได้รับอนุญาตขับขี่ แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน และจำเลยที่ 1ขาดต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เกิน 180 วัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้กรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 จะมีข้อ 2.13.6 การยกเว้นทั่วไป ระบุว่า การประกันภัยตามข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน ก็ตามแต่ก็มีข้อ 2.14 ซึ่งเป็นข้อสัญญาพิเศษระบุว่า “ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตารางบริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือข้อ 2.13 หรือเงื่อนไขทั่วไป เว้นแต่ข้อ 1.2 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 หรือข้อ 2.2 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วแต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัททันที” ดังนั้นจำเลยร่วมจะยกเอาเหตุที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยขาดต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกินกว่า 180 วัน มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกตามข้อ 2.1 หาได้ไม่ ได้แต่ยกขึ้นว่ากล่าวเอากับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
พิพากษายืน

Share