คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4496/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ตกลง ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีอื่นและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว โดยผู้ร้องในฐานะบุตรบุญธรรมขอสละมรดก ของผู้ตายโดยสิ้นเชิงและไม่มีเงื่อนไขทั้งขอถอนตัวจากการ เป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้และไม่คัดค้านในการที่ผู้คัดค้าน ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกต่อไป ดังนี้ เมื่อผู้ร้องได้แสดงเจตนาชัดแจ้งขอสละมรดกของผู้ตายโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การสละมรดกของผู้ร้องย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612และตามมาตรา 1615 กำหนดให้การสละมรดกนั้นมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอถอดถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ประกอบกับทายาทอื่นเห็นว่าผู้คัดค้านเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางใจ ฟักฟูมผู้คัดค้านที่ 1 และนางสมถวลิ รังสรรค์ ผู้คัดค้านที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสมจิตต์ รังสรรค์ ผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมายในลำดับที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวเนื่องจากผู้ตายไม่มีคู่สมรส และบิดามารดาของผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ก่อนตายผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมายในลำดับที่ 3 จึงถูกตัดมิให้รับมรดกตามกฎหมาย เพราะมีทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 อยู่ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องมิได้ยินยอมและปิดบังทรัพย์มรดกและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่แท้จริงของผู้ตาย เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้คัดค้านทั้งสองได้โอนขายทรัพย์มรดกให้บุคคลภายนอกในราคาต่ำ ไม่ยื่นบัญชีแสดงการจัดการทรัพย์มรดกต่อศาล และไม่ส่งมอบทรัพย์มรดกให้ผู้ร้อง ผู้ร้องมีความประสงค์รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกแต่มีเหตุขัดข้องไม่สามารถกระทำได้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกเดิมเสียก่อน ผู้ร้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือคนล้มละลาย ขอให้มีคำสั่งถอดถอนผู้คัดค้านทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ร้องมิใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย เอกสารที่แสดงว่าผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมทำขึ้น ขณะผู้ตายไม่มีความรู้สึกผิดชอบ โดยผู้ร้องกับพวกสมคบกันทำขึ้นด้วยการขู่เข็ญบังคับให้ผู้ตายลงลายมือชื่อในกระดาษแบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมของผู้ตาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 1 ขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2519 นางสาวสมจิตต์ รังสรรค์ ได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมที่สำนักงานเขตพระโขนง กรุงเทพมหานครตามสำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย ร.2 ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2533 นางสาวสมจิตต์ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ครั้นวันที่ 9 เมษายน 2533 ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2533คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ข้อแรกว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ถอดถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ ในปัญหานี้ได้ความว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่17 กันยายน 2539 ว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีอื่นและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว โดยผู้ร้องในฐานะบุตรบุญธรรมขอสละมรดกของผู้ตายโดยสิ้นเชิงและไม่มีเงื่อนไขทั้งขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้และไม่คัดค้านในการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกต่อไป ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวแล้วแถลงไม่คัดค้าน กรณีรับฟังได้ว่าเป็นความจริงตามคำร้อง ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้ร้องได้แสดงเจตนาชัดแจ้งขอสละมรดกของผู้ตายโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความการสละมรดกของผู้ร้องย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และตามมาตรา 1615 กำหนดให้การสละมรดกนั้นมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอถอดถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ประกอบกับทายาทอื่นเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 2เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share