แหล่งที่มา : เนติบัญฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญากับโจทก์ประกันตัวคนต่างด้าว 2 คนตามสัญญาประกัน 2 ฉบับ หากผิดสัญญาจำเลยยอมให้ปรับรายละ 50,000 บาททุนทรัพย์ของคดีจึงต้องแยกตามสัญญาประกันแต่ละฉบับคือไม่เกินรายละ 50,000 บาท แม้โจทก์ฟ้องด้วยทุนทรัพย์รวมกันมา 2 รายเป็นเงิน 100,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 สัญญาประกันระบุว่า ถ้าจำเลยผิดสัญญาประกันจำเลยยอมให้โจทก์ปรับตามจำนวนเงิน 50,000 บาท จำเลยนำลูกประกันไปรายงานตัวต่อโจทก์เลยกำหนดเป็นการผิดสัญญา จำเลยจึงต้องถูกปรับตามสัญญาแม้โจทก์ จะได้สอบสวนลูกประกันแล้วผ่อนผันแก่ลูกประกันให้อยู่เลยกำหนดได้ ก็หาทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยหมดไปไม่ แต่ความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ถ้าโจทก์ได้แจ้งจำเลยในทันทีเมื่อนำลูกประกันไปรายงานตัว ความเสียหายหากจะมีตามสัญญาประกันจำเลยย่อมเรียกเอาจากลูกประกันได้ เมื่อโจทก์ดำเนินการสอบสวนลูกประกันและผ่อนผันลูกประกันให้อยู่ต่อไปได้ จากนั้นโจทก์จึงแจ้งจำเลยว่าผิดสัญญา จึงสมควรลดค่าเสียหายลงให้เหมาะสมตามพฤติการณ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตกลงยอมชำระเงินแทนทันทีหากว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตัวนางเลียว ไปซันและนางหยัง ซูฮั้ว บุคคลต่างด้าวต่อโจทก์ โดยให้สัญญาว่าจำเลยที่ 1 จะควบคุมดูแลและนำลูกประกันมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตามกำหนด หากผิดสัญญายอมให้ปรับรายละ 50,000 บาท จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้โดยไม่ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระก่อน แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำลูกประกันทั้งสองไปรายงานตัวตามกำหนดเป็นการผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองรวมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 นำลูกประกันทั้งสองรายงานตัวต่อโจทก์แล้ว โจทก์มิได้เอาผิดหรือปรับจำเลยที่ 1และลูกประกันทั้งสองได้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ 1มิได้ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ค่าปรับตามสัญญาสูงเกินไป ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยทุนทรัพย์รวมเป็นเงิน 100,000 บาท อ้างว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตัวนางเลียว ไปซัน กับนางหยัง ซูฮั้ว บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร กับโจทก์ตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4หากผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้ปรับรายละ 50,000 บาท ทุนทรัพย์ของคดีจึงต้องแยกตามสัญญาประกันแต่ละฉบับ คือไม่เกินรายละ50,000 บาท คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ระหว่างการประกันตัวบุคคลต่างด้าวตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ให้นำบุคคลต่างด้าวทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2521 แต่จำเลยที่ 1 นำลูกประกันทั้งสองไปรายงานตัวในวันที่ 5 เมษายน 2521 ซึ่งเป็นเวลาที่เลยกำหนดถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันตามที่ระบุไว้ในข้อ 4 ของเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งมีประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ได้นำลูกประกันทั้งสองไปรายงานต่อโจทก์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้สอบสวนลูกประกัน และผ่อนผันลูกประกันทั้งสองให้อยู่ต่อไปได้เกินกำหนดนั้นโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 โดยไม่จำต้องสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาค่าปรับไว้ก่อนได้หรือไม่ เห็นว่าสัญญาประกันข้อ 6 ของเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันข้อหนึ่งข้อใด จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับตามจำนวนเงิน 50,000 บาท การที่จำเลยที่ 1 นำลูกประกันทั้งสองไปรายงานตัวต่อโจทก์เลยกำหนดเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องถูกปรับตามสัญญา แม้โจทก์จะได้สอบสวนลูกประกันแล้วผ่อนผันแก่ลูกประกันทั้งสองให้อยู่เลยกำหนดได้ก็หาทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ต้องหมดไปไม่ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่ความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ถ้าโจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ 1ในทันทีเมื่อนำลูกประกันไปรายงานตัว ความเสียหายหากจะมีตามสัญญาประกันจำเลยที่ 1 ย่อมเรียกจากลูกประกันได้ เมื่อโจทก์ดำเนินการสอบสวนลูกประกันและผ่อนผันลูกประกันทั้งสองให้อยู่ต่อได้จากนั้นโจทก์จึงแจ้งจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.15 ว่าปฏิบัติผิดสัญญา จึงสมควรลดค่าเสียหายลงให้เหมาะสมตามพฤติการณ์โดยให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3,จ.4 รวมเป็นเงิน 20,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตกลงยอมชำระเงินแทนทันทีหากว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5, จ.6 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน20,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ