แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันก่อสร้างอาคารชุดและนำห้องชุดออกขาย โจทก์ซื้อห้องชุดจากจำเลยทั้งสองแต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญามิได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า มิได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารชุดและนำห้องชุดออกขาย จำเลยที่ 1 ขายโครงการให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการร่วมหรือไม่ ไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุเป็นการรับโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามมาตรา 350 เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 123,997 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยต่อไปในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 77,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 77,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นวันฟ้องไม่เกิน 46,297 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก่อสร้างโครงการอาคารชุดดังกล่าวเพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปในลักษณะแบ่งงานกันทำ โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ด้านการตลาดและจัดทำนิติกรรมสัญญากับผู้จะซื้ออาคารชุด และจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในการก่อสร้างและจัดทำนิติกรรมสัญญากับผู้จะซื้ออาคารชุดเช่นกัน โจทก์ซื้อห้องชุดห้องหมายเลขที่ 308 จากจำเลยทั้งสอง โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดสัญญา เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์อ้างความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาในฐานะจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันในนิติกรรมดังกล่าวต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธเหตุตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง โดยระบุจำเลยที่ 2 เพิ่งเข้ามารับซื้อโครงการของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2537 ภายหลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายต่อกันนานถึง 3 ปีเศษ และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการร่วมหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 คดีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุเป็นการรับโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (3)
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.