คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับราคาที่ดินของโจทก์รวมทั้งต้นไม้และความเสียหายจากการที่ถูกเวนคืนโดยคำนวณราคาจากสภาพที่ดิน ราคาต้นไม้ยืนต้นอาคารโรงงานและสิ่งปลูกสร้างและความเสียหายหากมีการซื้อขายหรือรื้อถอนอาคารโรงงานของโจทก์รวมทั้งโรงงานที่จะต้องสร้างใหม่ ซึ่งเป็นคำฟ้องโจทก์ที่ได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วโจทก์ไม่จำต้องบรรยายว่า>ราคาซื้อขายที่ดินแปลงละเท่าใด ต้นไม้ยืนต้นเป็นต้นไม้อะไร ปลูกเมื่อใด ให้ผลอย่างไร โรงงานสร้างเมื่อใด ราคาเท่าใดโรงงานตั้งที่ไหนมีรายละเอียดเช่นใด เพราะเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของโรงงานพิพาทนับแต่ซื้อโรงงานมาจากบริษัทล.ซึ่งเป็นเวลาก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีและอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ.2509 ใช้บังคับโจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนตั้งแต่ปี 2516 มีการเจรจากันเรื่อยมา แต่ตกลงกันไม่ได้โดยมีการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายเมื่อปี 2522 และมีการนัดเจรจากันหลายครั้ง ดังนี้ จะถือว่าอนุญาโตตุลาการเพิกเฉยไม่กระทำการตามหน้าที่ยังไม่ได้ ส่วนการเจรจาไม่เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสมควรนั้น เนื่องมาจากสาเหตุราษฎรร้องเรียนให้ยกเลิกการเวนคืน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอพระราชบัญญัติยกเลิกการเวนคืนถึง 2 ครั้ง ดังนั้นความเป็นอนุญาโตตุลาการจึงยังไม่เป็นอันสิ้นสุด ต้องถือว่าอยู่ในขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของอนุญาโตตุลาการ แม้จำเลยที่ 1จะแจ้งราคาเด็ดขาดให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสองทราบและนำเงินค่าทดแทนไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์แล้วก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนไป ถือว่าโจทก์ทั้งสองยังโต้แย้งจำนวนค่าทดแทนอยู่ เมื่อต่อมามี พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ใช้บังคับ ให้มีผลยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 ในส่วนที่เกี่ยวแก่กรณีที่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการและยังมิได้ชี้ขาดให้เป็นอันยกเลิกอนุญาโตตุลาการนั้น โดยให้คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์และฟ้องคดีได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์และฟ้องคดีนี้ได้ โจทก์ที่ 2 ขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นภายหลังจากมี พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวใช้บังคับซึ่งในเรื่องนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีหลักเกณฑ์อยู่ว่าหากผู้ที่ถูกเวนคืนปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างใดเพิ่มขึ้นภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนประกาศใช้บังคับโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธินำมาเรียกค่าทดแทนได้ ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิมก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับผู้ที่ถูกเวนคืนยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนได้ โจทก์ที่ 2 จึงยังคงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนที่มีอยู่ก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ แม้จำเลยที่ 3 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์จะเป็นการกำหนดค่าทดแทนถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 แต่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพราะเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาหลายปีการกำหนดเงินค่าทดแทนยังไม่สิ้นสุด โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทน ส่วนที่ดินมีราคาสูงขึ้น ต่อมา พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ออกใช้บังคับ ฉะนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนให้แก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนให้ได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 21 วรรคท้าย บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน และบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นด้วย การที่โจทก์ต้องรื้อถอนโรงงานออกไปจากที่ดินที่ถูกเวนคืนจำต้องหยุดการผลิต ทำให้ขาดรายได้จากการประกอบการโจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายดังกล่าวส่วนค่าชดเชยค่าจ้างที่ต้องเลิกจ้างคนงาน หากโจทก์ที่ 2ได้รับความเสียหายจริง โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 1และที่ 3 ได้ กองทัพเรือจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจของจำเลยที่ 1เมื่อโจทก์เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนไม่เป็นธรรม ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี จึงต้องร่วมรับผิดโดยตำแหน่งหน้าที่กับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 107,192,500 บาท และแก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 148,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ถูกเวนคืนเจ้าหน้าที่เวนคืนได้กำหนดราคาเด็ดขาดเพื่อจ่ายค่าทดแทนสำหรับที่ดินต้นไม้ยืนต้น โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกลค่ารื้อถอนอาคาร โรงงาน และเครื่องจักรกล เป็นเงิน3,085,125 บาท 3,085,125 บาท และได้แจ้งราคาเด็ดขาดแก่โจทก์ทั้งสองแล้วโจทก์ทั้งสองขอตั้งอนุญาโตตุลาการแต่ไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2497 และอนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นนั้นเพิกเฉยไม่กระทำการตามหน้าที่ภายในเวลาอันสมควร ประวิงเวลาในการพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเท่ากับไม่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายดังนั้น ราคาเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่เวนคืนแจ้งแก่โจทก์ทั้งสองจึงโต้แย้งไม่ได้ เจ้าหน้าที่เวนคืนนำค่าทดแทนไปวาง ณสำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 แล้ว ถือว่าการเวนคืนเสร็จสิ้นโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์โดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเกี่ยวแก่ราคาที่ดิน อาคาร โรงงาน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล และต้นไม้ยืนต้นเคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายรายละเอียดให้เพียงพอ ที่ดินของโจทก์ที่ 1 มิได้อยู่ติดถนนสุขุมวิท และมีหลักฐานเพียง น.ส.3 ขณะที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับเมื่อปี 2509 ที่ดินมีราคาไม่เกิน148,327 บาท ส่วนต้นไม้ยืนต้นมีเพียง 50 ต้น ราคาไม่เกิน1,156 บาท โดยคำนึงถึงจำนวนต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่แล้วกำหนดให้เป็นรายต้น ส่วนอาคารโรงงานและสิ่งปลูกสร้างมีไม่เกิน26 รายการ เครื่องจักรกลไม่เกิน 37 รายการ และสามารถรื้อถอนไปติดตั้งใหม่ได้ ค่าเสียหายในการรื้อถอนไม่เกิน2,935,642 บาท ฟ้องโจทก์ที่ 2 เกี่ยวแก่ค่าขาดรายได้ค่าชดเชยในการเลิกจ้างพนักงานค่าซื้อที่ดินและตั้งโรงงานใหม่เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายถึงรายละเอียดให้เป็นที่เข้าใจและไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะให้อำนาจเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ได้ อีกทั้งเป็นค่าเสียหายที่มิได้เกิดขึ้นจริงเพียงแต่คาดคะเน เจ้าหน้าที่เวนคืนกำหนดค่าทดแทนที่ดิน ต้นไม้ยืนต้นรวมทั้งค่ารื้อถอนอาคารโรงงานสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรกล3,085,125 บาทนั้นเป็นธรรมตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในขณะนั้นแล้วสำหรับค่าทดแทนอาคารโรงงานสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกลและค่ารื้อถอนกำหนดให้สูงถึง 2,935,642 บาท โดยคำนึงถึงสภาพการใช้งานซึ่งสูงกว่าราคาซื้อขายตามปกติ โจทก์ที่ 2 ซื้ออาคารโรงงานสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรกลจากโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2511 ราคา 1,996,089 บาท หลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง สำหรับเรื่องดอกเบี้ย โจทก์ทั้งสองคิดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 2 ขณะฟ้องเกษียณอายุราชการไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,569,767 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน2,064,358 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 อีกจำนวน 6,935,642 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 เป็น เจ้าของที่ดินรวม 5 แปลง เนื้อที่ 71 ไร่ 1 งาน58 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลสำนักท้อน อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง บนที่ดินมีต้นไม้ยืนต้น โรงงาน และเครื่องจักรกลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอยู่ในเขตที่จะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2509 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี และอำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ.2514 จำเลยที่ 2 กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินต้นไม้ยืนต้นโรงงาน และเครื่องจักรกล รวมค่ารื้อถอนเป็นเงิน3,085,125 บาท และนำไปวางทรัพย์ไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2529
โดยที่คดีนี้โจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่างฎีกาเห็นสมควรให้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก่อนปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวแก่ราคาที่ดิน ต้นไม้ยืนต้น อาคารโรงงานเครื่องจักรกล รายได้ของโจทก์ที่ 2 และการตั้งโรงงานใหม่เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 รวม 5 แปลง เนื้อที่ 71 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวาราคาไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาท โดยคำนวณราคาจากสภาพที่ดินที่อยู่ติดถนนสุขุมวิท เป็นทำเลเจริญแล้ว มีสาธารณูปโภคเข้าถึงเหมาะแก่การประกอบกิจการโรงงาน ส่วนต้นไม้ยืนต้นมี 290 ต้นราคาไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท อาคารโรงงานและสิ่งปลูกสร้างหากมีการซื้อขายหรือรื้อถอนจะมีราคาค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 40,000,000บาท อาคารโรงงานของโจทก์ที่ 2 ใช้เป็นสถานที่ผลิตแป้งมันสำปะหลังจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศมีรายได้เฉลี่ยปีละ 44,000,000 บาทถึง 90,000,000 บาท หากหยุดกิจการและไปสร้างโรงงานใหม่จะต้องใช้เวลา 3 ปี โจทก์ที่ 2 จะขาดรายได้ไม่ต่ำกว่า57,000,000 บาท โรงงานใหม่ที่จะต้องสร้างใช้เงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 48,943,000 บาท ซึ่งเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายแจ้งชัดที่สภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่จำต้องบรรยายฟ้องตามที่จำเลยที่ 1และที่ 3 ฎีกาว่า ราคาซื้อขายที่ดินแปลงละเท่าใดต้นไม้ยืนต้นเป็นต้นไม้อะไร ปลูกเมื่อใด ให้ผลอย่างไรโรงงานสร้างเมื่อใดราคาเท่าใด โรงงานตั้งที่ไหน มีรายละเอียดเช่นใดซึ่งเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อสองว่าโจทก์ที่ 2 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าตอบแทนหรือไม่ จำเลยที่ 1และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2509 ประกาศใช้บังคับนั้นโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการผลิตแป้งมันสำปะหลังและไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานเครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิตเพราะโจทก์ที่ 2เพิ่งรับโอนกิจการมาจากโจทก์ที่ 1 เมื่อปี 2511 ตามสัญญาขายโรงงานและเครื่องจักรทำแป้งมันสำปะหลังเอกสารหมาย ล.2จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทน ในปัญหานี้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของโรงงานพิพาทนับแต่ซื้อโรงงานมาจากบริษัทเลี้ยงเซ้งแอนด์โก จำกัด ซึ่งเป็นเวลาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2509 ใช้บังคับ โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อสามว่าอนุญาโตตุลาการที่โจทก์ทั้งสองแต่งตั้งขึ้นได้ประวิงเวลาการพิจารณาข้อพิพาทและเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือฟ้องคดีต่อศาลได้หรือไม่นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3ฎีกาว่า อนุญาโตตุลาการฝ่ายโจทก์ทั้งสองเพิกเฉยไม่กระทำตามหน้าที่ภายในเวลาอันสมควรเพื่อประวิงเวลา ถือว่าข้อตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นอันสิ้นสุด จำเลยที่ 1 ได้แจ้งราคาเด็ดขาดให้โจทก์ทั้งสองทราบและนำค่าทดแทนไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 เมื่อปี 2529 ถือว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่ออุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือฟ้องคดีได้อีก เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 3 รับกันว่า ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนตั้งแต่ปี 2516 มีการเจรจากันเรื่อยมาแต่ตกลงกันไม่ได้ และมีการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายเมื่อปี 2522 โจทก์ทั้งสองมีนายพิชาน ดโนทัย จำเลยที่ 1มีนายพัลลภ สังโขบล เป็นอนุญาโตตุลาการ มีการนัดเจรจากันหลายครั้ง ดังนี้ จะถือว่าอนุญาโตตุลาการเพิกเฉยไม่กระทำการตามหน้าที่ยังไม่ได้ ส่วนการเจรจาไม่เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสมควรนั้น อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุว่า ราษฎรร้องเรียนให้ยกเลิกการเวนคืนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอพระราชบัญญัติยกเลิกการเวนคืนถึง 2 ครั้ง ฉะนั้นความเป็นอนุญาโตตุลาการจึงยังไม่เป็นอันสิ้นสุด ต้องถือว่าอยู่ในขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของอนุญาโตตุลาการ แม้จำเลยที่ 1 จะแจ้งราคาเด็ดขาดให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสองทราบและนำเงินค่าทดแทนไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 แล้วก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนไป ถือว่าโจทก์ทั้งสองยังโต้แย้งจำนวนค่าทดแทนอยู่ เมื่อต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ใช้บังคับ ให้มีผลยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497ในส่วนที่เกี่ยวแก่กรณีที่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการและยังมิได้ชี้ขาดให้เป็นอันยกเลิกอนุญาโตตุลาการนั้น โดยให้คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์และฟ้องคดีได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืออสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์และฟ้องคดีนี้ได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อสี่ว่าโจทก์ที่ 2 ขยายโรงงานและเพิ่มการผลิตตลอดมาโดยมิชอบและฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบโจทก์ที่ 2ยอมรับว่ามีการขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวใช้บังคับจริง ซึ่งในเรื่องนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีหลักเกณฑ์อยู่ว่าหากผู้ที่ถูกเวนคืนปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างใดเพิ่มขึ้นภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนประกาศใช้บังคับโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ก็ย่อมไม่มีสิทธินำมาเรียกค่าทดแทนได้ ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิมก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ผู้ที่ถูกเวนคืนยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนได้ โจทก์ที่ 2 จึงยังคงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนที่มีอยู่ก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อห้าว่าต้นไม้ยืนต้นและเครื่องจักรกลมีเพียงใดนั้น เห็นว่า สำหรับต้นไม้ยืนต้น โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่ามีประมาณ 290 ต้น ราคาไม่ต่ำกว่า100,000 บาท และโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ต้นไม้ยืนต้นกว่า200 ต้น ราคาประมาณ 100,000 บาท ซึ่งในขณะที่โจทก์ที่ 1ฟ้องและเบิกความต่อศาลเป็นเวลาภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับหลายปี อาจจะมีการปลูกต้นไม้ยืนต้นเพิ่มเติมขึ้นได้ แต่ขณะที่คณะกรรมการสำรวจทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนของจำเลยที่ 1 เข้าสำรวจและบันทึกจำนวนต้นไม้ยืนต้นไว้ ตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 265 โจทก์ที่ 1มิได้โต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าต้นไม้ยืนต้นมีอยู่ตามจำนวนในเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 265 สำหรับโรงงานและเครื่องจักรกลโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ร่วมกันตรวจสอบและตกลงกันไว้ถึงจำนวนโรงงานและเครื่องจักรกลเก่าและใหม่ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 และวันที่ 25 ตุลาคม 2533 จึงต้องถือเอาตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อหกว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่และโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เพียงใดซึ่งปัญหาข้อนี้โจทก์ทั้งสองฎีกาขึ้นมาด้วย จึงเห็นควรให้วินิจฉัยรวมกันไป สำหรับปัญหาว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรมหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยใช้หลักเกณฑ์นำราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ในเขตท้องที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาที่ดินในเขตอำเภอเมืองระยองมาบวกกับราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ในเขตอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เมื่อบวกกันได้เท่าใดให้หาร 2 แล้วเพิ่มค่าทดแทนให้อีกร้อยละ 50 ซึ่งคำนวณแล้วที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ติดชายทะเล ระยะ 200 เมตร ไร่ละ 6,000 บาท และติดถนน สุขุมวิทในระยะ 200 เมตร ไร่ละ 4,500 บาทนอกนั้นไร่ละ 1,500 บาท คำนวณแล้วค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 148,327 บาท เป็นการกำหนดค่าทดแทนถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 แต่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 เพราะเวลาล่วงเลยมาจนถึงบัดนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนยังไม่สิ้นสุด โจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทน ส่วนที่ดินมีราคาสูงขึ้น ต่อมาพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ออกใช้บังคับ ฉะนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนให้แก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนให้ได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น แต่โจทก์ที่ 1 คิดราคาที่ดินโดยเฉลี่ยไร่ละ 1,500,000 บาท นับว่าเป็นราคาที่สูงเกินไปที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ราคาไร่ละ150,000 บาท และต้นไม้ยืนต้นรวม 10,000 บาท นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 ผู้ถูกเวนคืนแล้ว
สำหรับค่าทดแทนอาควรโรงงาน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรกลรวมค่ารื้อถอนของโจทก์ที่ 2 ปรากฏตามสัญญาขายโรงงานและเครื่องจักรทำแป้งมันสำปะหลังเอกสารหมาย ล.2 ว่า โจทก์ที่ 1ขายโรงงานและเครื่องจักรกลซึ่งมีอยู่ขณะนั้นทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 2เมื่อปี 2511 ราคา 1,996,089 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 เสนอค่าทดแทนอาคารโรงงาน สิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรกลรวมค่ารื้อถอนอันเป็นราคาเด็ดขาดแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 2,935,642 บาท จึงให้โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าทดแทนตามจำนวนดังกล่าว สำหรับค่าปลูกสร้างโรงงานใหม่ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ต้องปลูกสร้างโรงงานใหม่ตามมาตรา 18(5) นั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปลูกสร้างอาคารโรงงานใหม่ให้โจทก์ที่ 2 เมื่อรวมกับค่าทดแทนโรงงาน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกลและค่ารื้อถอนที่กำหนดให้แล้วเป็นเงิน 5,000,000 บาท เป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ที่ 3ว่าโจทก์ที่ 2 เรียกค่าขาดรายได้เนื่องจากต้องหยุดกิจการและฎีกาโจทก์ที่ 2 ว่าโจทก์ที่ 2 เรียกค่าชดเชยแก่คนงานที่ต้องเลิกจ้างได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคท้ายบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน และบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นด้วย การที่โจทก์ที่ 2ต้องรื้อถอนโรงงานออกไปจากที่ดินที่ถูกเวนคืน จำต้องหยุดการผลิตทำให้ขาดรายได้จากการประกอบการโจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหาย แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 นำสืบถึงความเสียหายได้ไม่ชัดเจน ที่ศาลอุทธรณ์เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ปีละ 2,000,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน4,000,000 บาท จึงเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว สำหรับค่าชดเชยค่าจ้างที่ต้องเลิกจ้างคนงานหากโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายจริง โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามมาตรา 21 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แต่ปรากฏจากคำพยานโจทก์ที่ 2 ว่าโจทก์ที่ 2 ยังมีโรงงานอยู่อีกหลายแห่งโดยเฉพาะโรงงานไทยวา 6ซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกับโรงงานไทยวา 5 ที่ถูกเวนคืนโจทก์ที่ 2 สามารถโอนคนงานไปทำงานในโรงงานไทยวา 6หรือโรงงานอื่นของโจทก์ที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนไม่เป็นธรรมย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดี จึงต้องร่วมรับผิดโดยตำแหน่งหน้าที่กับจำเลยที่ 1
พิพากษายืน

Share