แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎี กา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้โอกาสบุคคลที่อ้างว่าเป็นจ้างของทรัพย์สินยื่นคำร้องเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้สั่งริบทรัพย์สิน แต่บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจะต้องยื่นคำร้องเข้าก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งริบทรัพย์สิน พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลางอันเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งคืนทรัพย์ของกลางดังกล่าว แม้ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ ผู้ร้องได้ขอถอนคำร้องคัดค้านขอคืนรถยนต์กระบะของกลางและศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนโจทก์แถลงว่า คดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาอาจจะมีผู้คัดค้านเข้ามาได้ใหม่อีกจึงขอให้งดการไต่สวนไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิพากษาคดีแล้วศาลชั้นต้นอนุญาต และสั่งให้โจทก์แถลงเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วเพื่อยกคดีขึ้นไต่สวนต่อไป ต่อมาโจทก์แถลงว่าศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอริบทรัพย์ของโจทก์ต่อไป ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาอีก ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องรับคำร้องของผู้ร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องด้วยเหตุว่าคำร้องคัดค้านที่ผู้ร้องยื่นไว้แล้วและขอถอนไปนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว ทำให้กลับสู่ฐานะเดิม เสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องคัดค้านไว้เลย เมื่อผู้ร้องนำคำร้องคัดค้านมายื่นใหม่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามแล้วย่อมล่วงพ้นเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 วรรคสอง หาได้ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาขายและมีอีเฟดรีนวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในคดีดังกล่าวเจ้าพนักงานยึดได้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนบ – 5740 ลพบุรี ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เป็นยานพาหนะในการนำอีเฟดรีนไปขาย รถยนต์กระบะดังกล่าวจึงเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดและโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์กระบะดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 3, 30, 31
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้าน อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะที่เจ้าพนักงานยึดไว้ มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้คืนของกลางแก่ผู้ร้อง
ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ผู้ร้องได้ขอถอนคำร้องคัดค้านขอคืนรถยนต์กระบะของกลางศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์แถลงว่าคดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาอาจจะมีผู้คัดค้านเข้ามาได้ใหม่อีก จึงขอให้งดการไต่สวนไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิพากษาคดีแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งให้โจทก์แถลงเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว เพื่อยกคดีขึ้นไต่สวนต่อไป ต่อมาโจทก์แถลงว่า ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วจึงขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอริบทรัพย์ของโจทก์ต่อไปผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านอีก ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำร้องคัดค้านที่ผู้ร้องยื่นไว้แล้ว ขอถอนไปนั้นย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว ทำให้กลับสู่ฐานะเดิม เสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องคัดค้านไว้เลย เมื่อผู้ร้องนำคำร้องคัดค้านมายื่นใหม่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามแล้วย่อมล่วงพ้นเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสอง จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า พนักงานอัยการยื่นคำร้องลงวันที่ 2 สิงหาคม 2537 ขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 5740 ลพบุรี เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งคืนทรัพย์ลงวันที่ 9กันยายน 2537 ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องคัดฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2537ศาลมีคำสั่งอนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1และที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 ผู้ร้องจึงมายื่นคัดค้านขอคืนรถยนต์อีก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 เห็นว่าพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีเพื่อขอให้สั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง” เป็นบทบัญญัติให้โอกาสบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้สั่งริบทรัพย์สิน แต่บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจะต้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งต้องหมายความถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องแล้ว ยังมีขั้นตอนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในเนื้อหาแห่งคดีไปแล้วเหตุผลที่เห็นได้อีกประการหนึ่งจากบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวในวรรคสามที่ว่า “ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งหรือกรณีที่ปรากฎเจ้าของแต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ ฯลฯ ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสอง” แสดงให้เห็นว่า วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในเนื้อหาแห่งคดี กับวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่พนักงานอัยการมีคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินได้ก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสองก่อนแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในเนื้อหาแห่งคดีก็เป็นไปตามกระบวนพิจารณาว่าจะเสร็จเร็วหรือช้า ผู้ร้องคัดค้านมายื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่พนักงานอัยการมีคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินจึงยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้รับคำร้องของผู้ร้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป