คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อระหว่างปี 2522 ถึงปี 2524 เจ้าหนี้กับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ม. กรรมการผู้จัดการลูกหนี้ได้ร่วมกันให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปรวม 7 ครั้ง คิดเป็นเงิน2,093,300 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาใช้เงินคืนและอัตราดอกเบี้ยไว้เมื่อปี 2528 เจ้าหนี้แต่เพียงผู้เดียวรับจดทะเบียนจำนองที่ดินจากลูกหนี้เพื่อเป็นประกันเงินกู้ยืมดังกล่าวในวงเงิน2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย ดังนั้นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กับเจ้าหนี้จึงเป็นเจ้าหนี้ร่วมกันและต่างมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงและลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนหนึ่งคนใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298เจ้าหนี้แต่ผู้เดียวจึงมีสิทธิจดทะเบียนจำนองกับลูกหนี้เพื่อประกันหนี้ดังกล่าวได้โดยลำพังตนเอง หาจำต้องให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร่วมเข้าเป็นคู่สัญญาจำนองด้วยไม่การกระทำของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ หนี้ตามสัญญากู้เงินมีอยู่อย่างไร ก็คงมีอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เจ้าหนี้ทำให้หนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีประกันเป็นหนี้ที่ประกันเท่านั้นเมื่อเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ไถ่ถอนจำนองจึงมีผลให้หนี้ที่มีประกันเป็นหนี้ที่ไม่มีประกันเช่นเดิม หนี้ตามสัญญากู้เงินยังหาระงับไปไม่ หนี้ดังกล่าวจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนสัญญาจำนองที่ว่าให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วยนั้นก็มีความหมายตรงตัวว่า นอกจากสัญญากู้เงินเดิมแล้วก็ยังถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินอีกชั้นหนึ่งเท่ากับเจ้าหนี้มีหลักฐานทั้งสัญญากู้เงินและหลักฐานตามสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการฟ้องคดีได้ทั้งสองอย่างนั่นเองเมื่อในวันไถ่ถอนจำนองเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เพียง 980,000 บาท เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนที่เหลือได้ตามสัญญากู้เงิน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลพบุรีการศึกษา จำกัด ลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2530 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 ขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะดังกล่าวเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.7 พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,825,955 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกัน รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว นายประชุมนิยม เจ้าหนี้รายที่ 48 โต้แย้งว่า หนี้รายนี้เป็นหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เพราะได้มีการแปลงหนี้เป็นจำนองและได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองไปแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้โต้แย้งเสียทั้งสิ้นและคดีถึงที่สุด ผู้โต้แย้งจึงมิใช่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิโต้แย้ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงงดสอบสวนพยานหลักฐานของผู้โต้แย้ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า หนี้กู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 ระหว่างเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กับลูกหนี้ระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่เป็นหนี้ตามสัญญาจำนองระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ และหนี้กู้ยืมระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้ซึ่งถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ระงับไปแล้วตั้งแต่วันที่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง ดังนั้นลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายนี้ เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 1,175,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(8)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า บริษัทลูกหนี้มีนายมนูญ วอนยอดพันธ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อประมาณปี 2520 เจ้าหนี้และนายพิศาลสามีได้ร่วมกับนายมนูญในฐานะส่วนตัวดำเนินธุรกิจจัดสรรที่ดินเจ้าหนี้ได้รับผลกำไรธุรกิจดังกล่าวเป็นเงินประมาณ 1,000,000บาท ระหว่างปี 2522 ถึง 2524 ลูกหนี้โดยนายมนูญกรรมการผู้จัดการและกรรมการอีก 1 คน ได้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้และนางวิไลวรรณวอนยอดพันธ์ ไปใช้ในกิจการของลูกหนี้รวม 7 ครั้ง เป็นเงิน2,093,300 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 ประมาณปี 2527 นายพิศาลสามีเจ้าหนี้คิดบัญชีหนี้สินในธุรกิจจัดสรรที่ดินกับนายมนูญ ปรากฎว่านายมนูญเป็นหนี้เจ้าหนี้และนายพิศาลเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท นายมนูญ จึงโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.7 ให้แก่เจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยินยอมด้วย ปี 2528ลูกหนี้ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 25936 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ดังกล่าวแก่เจ้าหนี้เป็นเงิน 2,000,000 บาท ระบุว่าให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วยตามเอกสารหมาย จ.11ต่อมานายมนูญขอไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวเพื่อนำไปขายให้แก่บุคคลอื่นโดยขอชำระหนี้เพียงครึ่งเดียว ส่วนหนี้ที่เหลือจะชำระให้ภายใน 1 ปี เจ้าหนี้และนายพิศาลสงสารนายมนูญจึงยอมให้ลูกหนี้ไถ่ถอนจำนอง แต่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียง980,000 บาท หนี้ที่เหลือลูกหนี้ยังไม่ชำระเมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 ได้หรือไม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.7 มีชื่อเจ้าหนี้และนางวิไลวรรณเป็นผู้ให้กู้ ถือว่าเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การที่เจ้าหนี้แต่ผู้เดียวรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 25936 ตำบลทะเลชุบศรอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จากลูกหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเงิน 2,000,000 บาทโดยถือว่าสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วยแสดงว่าคู่สัญญาเจตนาจะให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไป และใช้ข้อความตามหนังสือสัญญาจำนองเสมือนว่าเป็นสัญญากู้เงินฉบับใหม่เมื่อเจ้าหนี้ได้ให้ลูกหนี้ไถ่ถอนจำนองแล้วเท่ากับว่าไม่มีมูลหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงนำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 มาขอรับชำระหนี้ไม่ได้นั้นเจ้าหนี้ยื่นคำแก้ฎีกาว่า การที่เจ้าหนี้แต่ผู้เดียวจดทะเบียนรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 25936 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จากลูกหนี้ในวงเงิน 2,000,000 บาท โดยให้ถือหนังสือสัญญาจำนองเป็นสัญญากู้เงินด้วยนั้นหาทำให้สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 ระงับไปไม่ เพราะการจำนองดังกล่าวเพียงแต่ทำให้หนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ไม่มีประกัน เป็นหนี้ที่มีประกันเท่านั้นและไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ เพราะการจำนองนั้นเจ้าหนี้แต่ผู้เดียวก็สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับจำนองได้ เมื่อมีการไถ่ถอนจำนองไปก็เท่ากับว่าทำให้หนี้มีประกันเป็นหนี้ที่ไม่มีประกันเท่านั้น หาทำให้หนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 ระงับสิ้นไปไม่ เจ้าหนี้ยังมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7ได้ ดังนี้ จึงมีประเด็นต้องพิจารณาก่อนว่าสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 ระงับไปเพราะแปลงหนี้ใหม่จากสัญญากู้เงินเป็นสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.11 หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของเจ้าหนี้ประกอบสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.7 ว่า เมื่อระหว่างปี 2522 ถึงปี 2524 เจ้าหนี้กับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ภริยานายมนูญกรรมการผู้จัดการได้ร่วมกันให้ลูกหนี้ยืมเงินไปรวม 7 ครั้ง คิดเป็นเงิน 2,093,300 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาใช้เงินคืนและอัตราดอกเบี้ยไว้เมื่อปี 2528 เจ้าหนี้แต่เพียงผู้เดียวรับจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 25936 ตำบลทะละชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จากลูกหนี้เพื่อเป็นประกันเงินกู้ยืมดังกล่าวในวงเงิน 2,000,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย การกระทำของเจ้าหนี้ดังกล่าวถือได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาให้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระงับกันไป และคู่กรณีถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแทนสัญญากู้เงินเดิมแล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 289 บัญญัติว่า ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ไซร้ แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือเจ้าหนี้ร่วมกัน)ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ดังนั้นการที่เจ้าหนี้กับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กับเจ้าหนี้จึงเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน เจ้าหนี้และเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต่างมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงและลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนหนึ่งคนใดก็ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าหนี้แต่ผู้เดียวจึงมีสิทธิจดทะเบียนจำนองกับลูกหนี้เพื่อประกันหนี้ดังกล่าวได้โดยลำพังตนเอง หาจำต้องให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ร่วมเข้าเป็นคู่สัญญาจำนองด้วยไม่และการที่เจ้าหนี้เบิกความว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินส่วนของตนให้แก่เจ้าหนี้ก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าหนี้ร่วมจะว่ากล่าวกันเองเป็นอีกกรณีหนึ่ง การกระทำของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้แต่อย่างใด หนี้ตามสัญญากู้เงินมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เจ้าหนี้ทำให้หนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีประกันเป็นหนี้ที่มีประกันเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ไถ่ถอนจำนองจึงมีผลให้หนี้ที่มีประกันเป็นหนี้ที่ไม่มีประกันเช่นเดิมหนี้ตามสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7ยังหาระงับไปไม่ หนี้ดังกล่าวจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนสัญญาจำนองที่ว่าให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วยนั้น ก็มีความหมายตรงตัวว่า นอกจากสัญญากู้เงินเดิมแล้วก็ยังถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินอีกชั้นหนึ่ง เท่ากับเจ้าหนี้มีหลักฐานทั้งสัญญากู้เงินและหลักฐานตามสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการฟ้องคดีได้ทั้งสองอย่างนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันไถ่ถอนจำนองเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เพียง 980,000บาท เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนที่เหลือได้ ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 เป็นเงิน 1,113,300 บาทและดอกเบี้ยอีกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่เดือนธันวาคม 2527ถึงเดือนเมษายน 2530 ตามที่ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงควรได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 1,175,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียง 1,175,000 บาท จึงไม่ถูกต้องแต่เจ้าหนี้ไม่ได้ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share