คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ทำงานถึงปีเศษแต่ยังไม่เสร็จสิ้นแล้วโจทก์ก็ละทิ้งงาน จำเลยจึงหาช่างมาดำเนินการต่อ ดังนี้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรับมอบงานในส่วนที่โจทก์ทำไปแล้วโดยปริยาย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างในการก่อสร้างในส่วนดังกล่าว และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องบอกกล่าวทวงถามก่อนที่จะฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ไม่ตรงตามระยะเวลาในสัญญา เมื่อปรากฏตามสัญญาว่าจ้างว่าจำเลยจะต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์งวดละ 200,000 บาทงวดสุดท้ายชำระส่วนที่เหลือทั้งหมด แต่จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์เฉพาะในงวดที่ 3,4 และ 5 งวดละ 100,000 บาทโดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างไม่ครบตามรายการสัญญาและแม้เป็นความจริงว่าโจทก์ได้ก่อสร้างครบรายการตามสัญญาแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ไม่ถือว่าจำเลยชำระค่าจ้างไม่ตรงตามงวดเป็นการผิดสัญญาคงทำงานให้จำเลยต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา ตามสัญญาจ้างมิได้ระบุวันเริ่มต้นทำการงานกันไว้คงระบุเพียงให้แล้วเสร็จภายใน 160 วัน แต่โจทก์ทำงานไม่เสร็จในระยะดังกล่าว และจำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป แสดงว่าจำเลยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาทำงานให้เสร็จเป็นสำคัญจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2534 จำเลยระหว่างต่อเติมอาคารจำเลยผิดนัดจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามสัญญาบางรายการจำเลยเป็นผู้จัดทำเอง คือ งานไฟฟ้า สุขภัณฑ์ ประตูหน้าต่าง และถังน้ำบนดาดฟ้า 2 ถึง ซึ่งงานส่วนนี้โจทก์เสนอราคาไว้เป็นเงิน 292,950 บาท นอกจากนี้จำเลยยังจ้างโจทก์ทำงานเพิ่มเติมคิดเป็นเงิน 37,607 บาท เมื่อต่อเติมอาคารเสร็จโจทก์นำลูกจ้างไปทาสีเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2535 แต่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทำ จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ในระหว่างต่อเติมอาคารเพียง 600,000 บาท เมื่อหักจากค่าจ้างที่โจทก์ทำงานบางส่วนออกแล้ว จำเลยต้องจ่ายเงินค่าจ้าง 307,050 บาท และในส่วนที่จ้างเพิ่มเติม 37,607 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้าง 344,657 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยจ้างโจทก์ต่อเติมอาคารในวงเงิน 1,200,000 บาท จำเลยมิได้ผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาทำงานไม่แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ 160 วัน จำเลยจ่ายค่าจ้างตรงตามเวลา เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถทำงานตามสัญญาได้จึงขอให้จำเลยทำงานด้วยตนเองในส่วนงานไฟฟ้า สุขภัณฑ์ ประตูหน้าต่างและถังน้ำเป็นเงิน 292,950 บาท เมื่อหักจากค่าจ้างตามสัญญาออกแล้ว จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างอีก 907,050 บาท ซึ่งจำเลยชำระไปแล้ว 900,000 บาท คงเหลือค่าจ้างที่ต้องจ่ายแก่โจทก์ 7,050 บาทงานที่จำเลยจ้างโจทก์ทำเพิ่มเติมเป็นเงิน 37,607 บาท โจทก์ไม่ได้ทำ จำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จ่ายค่าจ้างก่อนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้ตึกที่ต่อเติมทรุดตัวแตกร้าวคิดเป็นเงิน 100,000 บาทโจทก์ก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างของตึกในส่วนที่ต่อเติมเท่านั้นจำเลยต้องจ้างผู้อื่นทำงานต่อรวมทั้งซ่อมแซมตึกที่ทรุดตัวและแตกร้าวเสียค่าจ้างและค่าวัสดุเป็นเงิน 435,736 บาท การที่โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดทำให้จำเลยขาดประโยชน์ที่จะนำตึกดังกล่าวออกให้ผู้อื่นเช่าโดยได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เป็นเวลา 10 เดือน คิดเป็นเงิน 100,000 บาทขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 635,736 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามฟ้องเดิม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 162,528.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน96,977.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างต่อเติมอาคาร 4 ชั้นครึ่ง เป็นเงิน 1,440,000 บาทตามสำเนาสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 หรือสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.1ต่อมาตกลงลดค่าจ้างลงเหลือเพียง 1,200,000 บาท ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.2
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวเรียกให้บังคับตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยเบิกความว่า นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ทำงานถึงปีเศษแต่ยังไม่เสร็จสิ้น แล้วโจทก์ก็ละทิ้งงาน จึงหาช่างมาดำเนินการต่อเห็นว่า การที่จำเลยกระทำการดังกล่าวเป็นการรับมอบงานในส่วนที่โจทก์ทำไปแล้วโดยปริยาย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างในการก่อสร้างในส่วนดังกล่าว และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องบอกกล่าวทวงถามก่อนที่จะฟ้อง ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้บอกกล่าวเรียกให้บังคับตามสัญญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
ประเด็นวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่าโจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดผิดสัญญานั้น เห็นว่า ตามคำร้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ไม่ตรงตามระยะเวลาในสัญญา ปรากฏว่าตามสัญญาจำเลยจะต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์งวดละ 200,000 บาทงวดสุดท้ายชำระส่วนที่เหลือทั้งหมด แต่จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ในงวดที่ 3, 4 และ 5 งวดละ 100,000 บาท โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างไม่ครบตามรายการสัญญา แม้โจทก์จะเบิกความว่าก่อสร้างครบรายการตามสัญญาแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ไม่ถือว่าจำเลยชำระค่าจ้างไม่ตรงตามงวดเป็นการผิดสัญญาคงทำงานให้จำเลยต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวอ้างว่า โจทก์ผิดสัญญาโดยทำงานไม่แล้วเสร็จภายใน 160 วัน ตามสัญญานั้น เห็นว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1 นั้น มิได้ระบุวันเริ่มต้นทำการงานกันไว้ คงระบุเพียงให้แล้วเสร็จภายใน 160 วันโจทก์จำเลยเบิกความรับกันว่า จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 1ให้แก่โจทก์ 200,000 บาท ในวันที่ 7 สิงหาคม 2534 แสดงว่าโจทก์ได้เจาะเสาเข็มและเทคอนกรีตเสาเข็มเสร็จจำนวน 4 ต้นตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ให้แก่โจทก์โจทก์เบิกความว่า เจาะ ตอกเสาเข็มเสร็จภายใน 6 วัน แสดงว่าโจทก์เริ่มทำงานต่อเติมอาคารให้จำเลยตามสัญญาจ้างตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2534 โจทก์ต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 160 วันซึ่งตรงกับวันที่ 7 มกราคม 2535 ปรากฏว่าโจทก์ทำงานไม่เสร็จในระยะดังกล่าว แต่จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป แสดงว่าจำเลยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาทำงานให้เสร็จเป็นสำคัญจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา
พิพากษายืน

Share