แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องขัดทรัพย์ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการฟ้องคดีซึ่งเริ่มด้วยการยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องคือตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ ที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้เป็นเงิน 2,083,800 บาท คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทมีราคา 425,000 บาท ก็ไม่ปรากฏเหตุผลในคำร้องว่าอาศัยหลักอะไรในการตีราคาเช่นนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์2,083,800 บาท ภายใน 30 วัน แม้ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านไว้แต่ต่อมาผู้ร้องก็แถลงขอขยายระยะเวลาชำระค่าขึ้นศาลที่ขาดอยู่ออกไปถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 หากถึงวันนัดยังไม่สามารถนำเงินมาวางศาลได้ขอให้ถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจร้องขัดทรัพย์ อันเป็นการยอมรับจำนวนทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่ชำระค่าขึ้นศาลที่ขาดอยู่เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่มาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องขัดทรัพย์ไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้าโดยมีหลักฐานสนับสนุนอยู่ในสำนวนแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องขัดทรัพย์วางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสอง (1) ได้ คดีนี้คำร้องของโจทก์อ้างว่า หากผู้ร้องและจำเลยที่ 3ตกลงซื้อขายและกรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ร้องจริงก็ย่อมจะปรากฏในสารบาญโฉนดที่ดินทั้งราคาซื้อขายที่ผู้ร้องอ้างมาก็ต่ำกว่าที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทประกันหนี้โจทก์ประกันหนี้โจทก์ คำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ยื่นคำร้องให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายเพราะเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีผู้ร้องได้รับสำเนาแล้วแถลงว่า แล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วน่าเชื่อว่าพยานหลักฐานเบื้องต้นมีเหตุตามคำร้องของโจทก์ จึงให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายจำนวน 200,000 บาท ภายใน30 วัน คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสอง (1)และเมื่อจำนวนเงินที่วางประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนที่สมควร เมื่อผู้ร้องไม่วางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 2,356,746.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,854,489.95 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน962,846.57 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 860,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และถือว่าเป็นการชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินตามฟ้องของโจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 23716 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากขายได้ไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาทคู่ความไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 23716 ดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 23716 ที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเป็นของผู้ร้องเพียงผู้เดียวโดยผู้ร้องได้ซื้อมาจากจำเลยที่ 3 และก่อนที่ผู้ร้องจะซื้อมาผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินแปลงดังกล่าวของผู้ร้องไปทำการขายทอดตลาด ที่ดินแปลงนี้มีราคา 425,000 บาท ขอให้ถอนการยึดและปล่อยที่ดินคืนให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า การซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23716 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเป็นการกระทำโดยสมยอมเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการบังคับคดีในที่ดินพิพาท สำหรับโฉนดที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยที่ 3ถือกรรมสิทธิ์อยู่ทั้งผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 3 ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยที่ดินพิพาทเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536 ได้ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 2,083,800 บาท ขอให้ยกคำร้องและโจทก์ยื่นคำร้องต่อมาว่า ขอให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลในจำนวนทุนทรัพย์ 2,083,800 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องอีกว่าคำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายเป็นเงิน500,000 บาท เนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำร้องขัดทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่14 กุมภาพันธ์ 2537 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 2,083,800 บาท แต่ผู้ร้องมิได้เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าว จึงให้ผู้ร้องนำเงินค่าขึ้นศาลส่วนที่ขาดมาวางศาลภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งคำร้องและโจทก์ยื่นคำร้องให้ผู้ร้องวางประกันความเสียหายเพราะเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดี ผู้ร้องได้รับสำเนาคำร้องแล้วแถลงว่าแล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วน่าเชื่อว่าพยานหลักฐานเบื้องต้นมีเหตุตามคำร้องของโจทก์จึงให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาทภายใน 30 วัน มิฉะนั้นศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ว่า การกำหนดค่าขึ้นศาลต้องคำนวณจากทุนทรัพย์ของผู้ร้องขัดทรัพย์ คือตามราคาทรัพย์ที่ผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นเจ้าของและเรียกร้องมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 เมื่อผู้ร้องได้เสียค่าขึ้นศาลครบถ้วนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องแล้วจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นตามคำสั่งศาลอีก นอกจากนี้คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องมีมูลจริง มิใช่ไม่มีมูลและมิใช่ยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลไม่ควรสั่งให้ผู้ร้องนำเงินมาวางประกันความเสียหายและจำนวนเงินวางประกันความเสียหายสูงเกินไปควรลดลงเหลือ 50,000 บาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำแถลงลงวันที่ 9 มีนาคม 2537 โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินประกันความเสียหายกับค่าขึ้นศาลเพิ่ม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2537
ในวันนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 21 เมษายน 2537 ผู้ร้องแถลงขอขยายระยะเวลาการวางเงินประกันความเสียหายและชำระค่าขึ้นศาลที่ขาดอยู่ออกไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 หากถึงวันนัดยังไม่สามารถนำเงินมาวางศาลได้ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจร้องขัดทรัพย์และขอให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการวางเงินออกไปตามที่ขอและนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 เวลา 13.30 นาฬิกา โดยให้ผู้ร้องนำเงินมาวางศาลก่อนเวลานัดไต่สวน
ถึงวันนัด ผู้ร้องไม่ได้นำเงินค่าขึ้นศาลส่วนที่ขาดและเงินประกันความเสียหายมาวางศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจร้องขัดทรัพย์ตามที่ได้แถลงไว้และยังเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่นำเงินค่าขึ้นศาลและเงินประกันความเสียหายมาวางศาลตามคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) และ 288(1) ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขึ้นศาลตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีของผู้ร้องมีมูลมิได้ยื่นคำร้องเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลจึงไม่ควรให้ผู้ร้องนำเงินมาวางประกันความเสียหาย ทั้งผู้ร้องก็ขอลดจำนวนเงินวางประกันความเสียหายให้ลงมาเหลือ 50,000 บาทพร้อมทั้งยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ด้วย นอกจากนี้เหตุที่ผู้ร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินประกันความเสียหายและระยะเวลาชำระค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่ออกไปแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นเพราะศาลชั้นต้นยังมิได้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายจำนวน 200,000 บาทลงเหลือ 50,000 บาท ผู้ร้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกประการ หากศาลสั่งให้เป็นไปตามคำร้องของผู้ร้อง กล่าวคือค่าขึ้นศาลผู้ร้องได้จ่ายครบถ้วนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องอ้างไว้ในฎีกาข้างต้นแล้ว และเงินวางประกันความเสียหายควรจะเป็นจำนวน 50,000 บาท ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องไม่ติดใจร้องขัดทรัพย์ เห็นว่า ในปัญหาจำนวนทุนทรัพย์นั้นการร้องขัดทรัพย์ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการฟ้องคดีซึ่งเริ่มด้วยการยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องคือตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ ซึ่งที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้เป็นเงิน 2,083,800 บาทที่คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทมีราคา 425,000 บาทก็ไม่ปรากฏเหตุผลในคำร้องว่า อาศัยหลักอะไรในการตีราคาเช่นนั้นทั้งที่สำเนาประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารท้ายคำร้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องก็ปรากฏราคาประเมินขณะยึดเป็นเงิน2,083,800 บาท ส่วนที่ปรากฏในสำเนาสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารท้ายคำร้องว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาในราคา 425,000 บาทก็ไม่ปรากฏหลักฐานการตีราคาของเจ้าพนักงานไม่ว่าในชั้นยื่นคำร้องหรือชั้นอุทธรณ์ฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ 2,083,800 บาท ภายใน 30 วันแม้ผู้ร้องจะยืนคำคัดค้านไว้ แต่ต่อมาผู้ร้องก็แถลงขอขยายระยะเวลาชำระค่าขึ้นศาลที่ขาดอยู่ออกไปถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2537หากถึงวันนัดยังไม่สามารถนำเงินมาวางศาลได้ขอให้ถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจร้องขัดทรัพย์ อันเป็นการยอมรับจำนวนทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติดังนั้น เมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่ชำระค่าขึ้นศาลที่ขาดอยู่เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่มาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)
สำหรับปัญหาการวางเงินประกันความเสียหายนั้น เห็นว่าเมื่อศาลเห็นว่าคำร้องขัดทรัพย์ไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้าโดยมีหลักฐานสนับสนุนอยู่ในสำนวนแล้วศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องขัดทรัพย์วางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง (1) ได้ สำหรับคดีนี้คำร้องของโจทก์อ้างว่าหากผู้ร้องและจำเลยที่ 3 ตกลงซื้อขายและกรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ร้องจริงก็ย่อมจะปรากฏในสารบาญโฉนดที่ดินทั้งราคาซื้อขายที่ผู้ร้องอ้างมาก็ต่ำกว่าที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทประกันหนี้โจทก์ คำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ยื่นคำร้องให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายเพราะเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดี ผู้ร้องได้รับสำเนาแล้วแถลงว่าแล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วน่าเชื่อว่าพยานหลักฐานเบื้องต้นมีเหตุตามคำร้องของโจทก์ จึงให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายเป็นเงิน200,000 บาท ภายใน 30 วัน คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสอง (1) และเมื่อพิเคราะห์จำนวนหนี้และดอกเบี้ยตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว เห็นว่าจำนวนเงินที่วางประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนที่สมควรเมื่อผู้ร้องไม่วางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเช่นนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้
พิพากษายืน