คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ดีแล้วถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เบิกสินค้าไปแล้วต้องรับผิดรวมทั้งจำนวนที่ต้องรับผิด ตลอดจนมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามนั้นด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยที่ 1 จะรับสินค้าไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดที่ที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาทำให้ฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไปไม่ ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ซึ่งจำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงโดยวินิจฉัยจากคำเบิกความของจำเลยโดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักพยานโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายในร้านค้าย่อยทำหน้าที่ขายน้ำส้มสายชูกลั่นในทางปฏิบัติจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าของจำเลยที่ 1 ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เบิกน้ำส้มสายชูกลั่นมาขายระหว่างเดือนตุลาคม2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและรับสินค้ามาขายในร้านค้าย่อยซึ่งการเก็บและการขายน้ำส้มสารชูกลั่นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 แต่ปรากฏว่าเงินรายรับที่ควรได้จากการขายน้ำส้มสายชูกลั่นขาดบัญชี และน้ำส้มสายชูกลั่นที่จำเลยที่ 1 เบิกมาขายนั้นขาดหายไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหาย การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยและพิพากษาตามประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดทุจริตต่อหน้าที่ จงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงหรือไม่ ดังที่กำหนดไว้โดยชอบ และแม้การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและเบิกน้ำส้มสายชูกลั่นแทนจำเลยที่ 2 จะปฏิบัติกันมาโดยโจทก์ไม่ทักท้วงจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่ร้ายแรงนักก็ตามแต่ก็หาทำให้ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เบิกตลอดจนการเก็บและขายน้ำส้มสายชูกลั่นหลุดพ้นไปไม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ กรณีเช่นนี้นอกจากจำเลยจะทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม หรือ 193/30 ที่ตรวจชำระใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 17 เป็นพนักงานของโจทก์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของโจทก์ จำเลยที่ 1ถึงจำเลยที่ 8 ประจำอยู่ที่ร้านค้าปลีกองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปบ้านโป่ง โดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นพนักงานขายจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ จำเลยที่ 3มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกโฆษณาทำหน้าที่ผู้จัดการ จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นหัวหน้าหมวดขาย จำเลยที่ 5จำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 7 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นพนักงานขายจำเลยที่ 8 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นเสมียน จำเลยที่ 9 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกคลังพัสดุฝ่ายโรงงาน จำเลยที่ 10มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นรองหัวหน้ากองบริการจำเลยที่ 11มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกรักษาการณ์ จำเลยที่ 12ถึงจำเลยที่ 15 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นพนักงานรักษาการณ์จำเลยที่ 16 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นพนักงานเร่งรัดหนี้สินจำเลยที่ 17 มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกภาชนะบรรจุเมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2529จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 17 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นพนักงานขายโดยเจตนาทุจริตลงชื่อในใบสั่งซื้อสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นหลายฉบับหลายครั้งโดยไม่มีอำนาจ เพราะการลงชื่อในใบสั่งซื้อสินค้าเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ละเลยหน้าที่และมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ลงชื่อในใบสั่งซื้อสินค้าแทน จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ตรวจสอบใบสั่งซื้อสินค้า หากเห็นว่าถูกต้องจะออกใบส่งสินค้าให้ แต่จำเลยที่ 4 ลงชื่อในใบส่งสินค้าและออกใบส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 หลายครั้งทั้งที่รู้ว่าใบสั่งซื้อสินค้าไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5ถึงจำเลยที่ 8 ไม่มีอำนาจหน้าที่ลงชื่อในใบส่งสินค้า ได้ฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ลงชื่อในใบส่งสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นให้แก่จำเลยที่ 1 หลายครั้งหลายฉบับทั้งที่รู้ว่าไม่ถูกต้องไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 9 มีอำนาจหน้าที่จ่ายสินค้าตามใบส่งสินค้าและใบสั่งซื้อสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 นำใบสั่งซื้อสินค้าและใบส่งสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นจำนวนหลายฉบับซึ่งลงลายมือชื่อโดยผู้ไม่มีอำนาจมารับสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นจากจำเลยที่ 9 หลายครั้ง โดยไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อของผู้มีอำนาจหน้าที่ในใบสั่งซื้อสินค้าและใบส่งสินค้าให้ถูกต้องก่อน จำเลยที่ 9ลงชื่อในใบผ่านสินค้าและจ่ายสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นให้จำเลยที่ 1หลายครั้ง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในใบผ่านสินค้า และไม่มีอำนาจให้บุคคลใดนำสินค้าออกจากโรงงาน เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้ากองการเงินและบัญชีหรือผู้ทำการแทน ซึ่งหัวหน้ากองการเงินไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 10 ทำการแทนแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 นำใบสั่งซื้อสินค้าและใบส่งสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นหลายฉบับมายื่นขอออกใบผ่านสินค้าจากจำเลยที่ 9 หลายครั้งจำเลยที่ 10 ซึ่งไม่มีอำนาจกลับลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 9 ในใบผ่านสินค้าอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นไปหลายครั้งจำเลยที่ 11 ถึงจำเลยที่ 15 มีหน้าที่ตรวจความถูกต้องของใบผ่านสินค้า จำเลยที่ 1 นำใบผ่านสินค้าหลายฉบับเพื่อขออนุญาตนำสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นออกจากโรงงานหลายครั้ง จำเลยที่ 11ถึงจำเลยที่ 15 กลับปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องของใบผ่านสินค้าว่ามีลายมือชื่อของหัวหน้ากองการเงินและบัญชีหรือไม่ ปรากฏว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นของบุคคลอื่นซึ่งไม่มีอำนาจ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำน้ำส้มสายชูกลั่นออกจากโรงงานไปหลายครั้ง เป็นน้ำส้มสายชูกลั่น ขนาด 750 ซีซี จำนวน99,310 ขวด ขนาด 500 ซีซี จำนวน 1,248 ขวด เมื่อหักยอดจ่ายไประหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2528 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2529คงเหลือน้ำส้มสายชูกลั่นขนาด 750 ซีซี จำนวน 45,634 ขวดขนาด 500 ซีซี จำนวน 531 ขวด แต่ตรวจนับที่เหลืออยู่มีน้ำส้มสายชูกลั่น ขนาด 750 ซีซี จำนวน 2,613 ขวด ขนาด 500 ซีซีจำนวน 15 ขวด จึงเป็นน้ำส้มสายชูกลั่นที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปเป็นขนาด 750 ซีซี จำนวน 43,021 ขวด ราคา 381,164.40 บาทขนาด 500 ซีซี จำนวน 516 ขวด ราคา 6,106 บาท รวมเป็นเงิน687,270.40 บาท จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ผู้จัดการร้านค้ามีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2จำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 15 ให้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ ต้องรับรู้การเบิกสินค้าเข้า-ออกร้านค้าปลีก โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รวบรวมนำส่งตรวจสอบยอดวัสดุนำเข้าร้านและยอดขายสินค้าแต่จำเลยที่ 3 บกพร่องไม่ติดตามตรวจสอบปฏิบัติตามระเบียบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 16 เป็นพนักงานเร่งรัดหนี้สิน กองการเงินและบัญชี มีหน้าที่ติดตามเร่งรัดหนี้สินเมื่อมียอดหนี้ค้างเกินจำนวนตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ปรากฏว่ายอดหนี้ร้านค้าปลีกค้างเกิน 300,000 บาท จำเลยที่ 16 ไม่ติดตามเร่งรัดหนี้สินตามหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 17เป็นหัวหน้าแผนกภาชนะบรรจุ กองวิศวกรรม และเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดบกพร่องโยกย้ายทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 17 เพื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 17 เป็นการละเมิด ผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหายเป็นจำนวนเงิน 687,270.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นเงิน 257,726.40 บาทรวมเป็นเงินค่าเสียหาย 944,996.80 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ถึงจำเลยที่ 17 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 944,996.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 17 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 17 ไม่ได้เป็นพนักงานของโจทก์แต่เป็นพนักงานขององค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปบ้านโป่งจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากปัจจุบันประกาศเลิกกิจการไปนานแล้วจำเลยที่ 1 ไม่เคยยักยอกน้ำส้มสายชูกลั่นดังฟ้อง เพราะการเบิกน้ำส้มสายชูกลั่นเป็นงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1เบิกน้ำส้มสายชูกลั่นในบางครั้งเป็นการเบิกแทนจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 เบิกมาแล้วจะนำมามอบให้จำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 17ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยอื่น ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 รับสินค้าไปเท่าใด เมื่อใดบ้าง และจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบเท่าใดและจำเลยที่ 17 รู้เห็นอย่างไร ทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในข้อหาละเมิด โจทก์ทราบความผิดเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2529 โจทก์ไม่ใช้สิทธิฟ้องภายใน 1 ปีจึงไม่สามารถฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นได้ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 10 ให้การว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและจำเลยดังกล่าวเป็นพนักงานของโจทก์มีตำแหน่งตามฟ้อง การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานโจทก์จะแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ในส่วนของการลงนามใบสั่งซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ส่วนที่เป็นเครื่องบริโภคน้ำส้มสายชูกลั่นจะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งการแบ่งแยกหน้าที่ได้ปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โจทก์ทราบดีไม่เคยทักท้วง จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นการทำความเสียหายของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด การที่จำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 9 ลงชื่อในใบส่งสินค้าและใบออกสินค้าให้จำเลยที่ 1เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่ทำกันมาเป็นเวลานาน โจทก์ทราบดีไม่เคยทักท้วง ความเสียหายของโจทก์เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 9 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 10 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นรองหัวหน้ากองบริการ และโจทก์ยังมิได้แต่งตั้งหัวหน้ากองบริการจำเลยที่ 10 จึงได้ปฏิบัติหน้าที่แทนโดยปริยาย การลงชื่อในใบผ่านสินค้าตามคำสั่งของฝ่ายโรงงานจำเลยที่ 10 ไม่ได้ปฏิบัติผิดระเบียบ เมื่อจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วเบียดบังเป็นประโยชน์ของตนจึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ตามระเบียบของโจทก์เมื่อสั่งซื้อสินค้าและรับสินค้าไปแล้วโจทก์จะให้เครดิตแก่ผู้ซื้อ 30 วัน แต่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อเป็นระยะเวลา 10 เดือน โดยที่พนักงานเร่งรัดหนี้สินของโจทก์มิได้ติดตามทวงถามจำเลยที่ 1ความเสียหายของโจทก์จำเลยที่ 1 กับพนักงานเร่งรัดหนี้สินจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ตามฟ้องกล่าวอ้างจำเลยกระทำผิดระเบียบเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หลังเกิดเหตุโจทก์ตั้งคณะกรรมการหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนจำเลยอื่นบกพร่องต่อหน้าที่และคณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการสอบสวนให้ผู้อำนวยการของโจทก์ทราบตั้งแต่ปี 2534 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 29 กันยายน2538 เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้พึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งเหตุละเมิดเกิดเมื่อเดือนตุลาคม 2527จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2528 โจทก์ฟ้องเป็นเวลาพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมิได้บกพร่อง และตรวจพบว่าสินค้าขาดหายไปจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ไม่ชัดเจนว่าของที่หายได้หายไปเมื่อใดทำให้จำเลยที่ 3 หลงต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 15 ให้การว่า จำเลยที่ 15 เป็นหัวหน้ายามรักษาการณ์มีหน้าที่ควบคุมรถทุกชนิดที่ผ่านเข้าออกโรงงานของโจทก์โดยมีใบผ่านลงลายมือชื่อหัวหน้ากองบริการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 15ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 15 ตรวจใบผ่านสินค้าที่ลายมือชื่อจำเลยที่ 10และได้ตรวจใบผ่านสินค้ามีลายมือชื่อหัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชีกับฝ่ายคลังถูกต้องแล้ว จึงให้สินค้าตามฟ้องออกจากโรงงานจำเลยที่ 15 มิได้บกพร่องต่อหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 16 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ระบุว่าจำเลยที่ 16 ทำผิดระเบียบอย่างไร บกพร่องต่อหน้าที่อย่างไรและจำเลยที่ 16 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์โดยมิได้ระบุว่าข้อใดความว่าอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบกำหนดไว้ถึงกรณียอดหนี้สินค้าค้างเกินตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 16ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขาดหาย ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิด1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ถึงจำเลยที่ 14 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3และจำเลยที่ 16 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 611,270.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 16รับผิดในต้นเงิน 611,270.40 บาท ไม่เกินคนละ 100,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 9กับจำเลยที่ 10 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 76,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 76,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 10 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าระหว่างเดือนตุลาคม 2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นพนักงานขายได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์โดยเจตนาทุจริตลงชื่อในใบสั่งซื้อสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นหลายฉบับหลายครั้งโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ แล้วเบียดบังยักย้ายถ่ายเทไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวคิดเป็นน้ำส้มสายชูกลั่นขนาด 750 ซีซีจำนวน 43,021 ขวด ราคา 681,164.40 บาท ขนาด 500 ซีซีจำนวน 516 ขวด ราคา 6,106 บาท รวมราคา 687,270.40 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 944,996.80 บาท ฟ้องโจทก์ได้บรรยายให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ดีแล้วถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1เบิกสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นไปแล้วต้องรับผิด รวมทั้งจำนวนที่ต้องรับผิดตลอดจนมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามนั้นด้วยจึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วส่วนระหว่างเวลาที่บรรยายฟ้องไว้นั้นจำเลยที่ 1 จะรับสินค้าไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดที่ที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาทำให้ฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไปได้ไม่ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ช่วงแรกบรรยายว่าจำเลยที่ 1 เบิกน้ำส้มสายชูกลั่นโดยไม่มีอำนาจแต่ตอนท้ายกลับบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกน้ำส้มสายชูกลั่นเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น ปรากฏว่าข้อความที่อุทธรณ์ดังกล่าวจำเลยที่ 1มิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์โดยวินิจฉัยจากคำเบิกความของจำเลยไม่ได้ชั่งน้ำหนักพยานโจทก์ในประเด็นนี้ เป็นการไม่ชอบอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงและประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่แต่วินิจฉัยเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เบิกสินค้าน้ำส้มสายชูกลั่นมาจำหน่ายในแผนกขายที่จำเลยที่ 1 รับผิดชอบเมื่อน้ำส้มสายชูกลั่นที่เบิกมาขาดหายไปโดยไม่ปรากฏว่ามีคนร้ายลักเอาไป จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ราคาน้ำส้มสายชูกลั่นที่ขาดหายไปแก่โจทก์ มิได้วินิจฉัยตามประเด็นที่กำหนดไว้เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่าเมื่ออ่านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางทั้งหมดแล้วศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1เป็นพนักงานขายในร้านค้าย่อยบ้านโป่งทำหน้าที่ขายน้ำส้มสายชูกลั่นในทางปฏิบัติจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าของจำเลยที่ 1 ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เบิกน้ำส้มสายชูกลั่นมาขายระหว่างเดือนตุลาคม 2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและรับสินค้ามาขายในร้านค้าย่อยบ้านโป่ง ซึ่งการเก็บและการขายน้ำส้มสายชูกลั่นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1แต่ปรากฏว่าเงินรายรับที่ควรได้จากการขายน้ำส้มสายชูกลั่นขาดบัญชีและน้ำส้มสายชูกลั่นที่จำเลยที่ 1 เบิกมาขายนั้นขาดหายไปทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหาย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยและพิพากษาตามประเด็นที่กำหนดไว้โดยชอบแล้วที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อสินค้าและเบิกน้ำส้มสายชูกลั่นแทนจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติที่เคยกระทำกันมาโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วง จึงไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่า แม้การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและเบิกน้ำส้มสายชูกลั่นแทนจำเลยที่ 2 จะปฏิบัติกันมาโดยโจทก์ไม่ทักท้วงจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่ร้ายแรงนักตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาก็ตามแต่ก็หาทำให้ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เบิกตลอดจนการเก็บและขายน้ำส้มสายชูกลั่นตามที่วินิจฉัยมาแล้วนั้นหลุดพ้นไปไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 10 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ กรณีเช่นนี้นอกจากจำเลยจะทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม หรือ 193/30ที่ตรวจชำระใหม่และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหมดในอายุความดังกล่าว จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 10จะยกอายุความเรื่องละเมิด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาต่อสู้หาได้ไม่ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share