คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 4 ก่อสร้างอาคาร และจำเลยที่ 4 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ โดยมีข้อความในสัญญากู้ด้วยว่าจำเลยที่ 4 โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 4 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ และโจทก์กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งมายังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้มีหน้าที่จะต้องเบิกจ่ายเงินค่าจ้าง จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 4 ได้ปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 บัญญัติไว้แล้ว สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 4 ในการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของโจทก์ตั้งแต่นั้น ส่วนจำเลยที่ 4 ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขออนุมติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 4และผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้จ่ายได้ จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งจำเลยที 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าจงใจกระทำต่อโจทก์โดยปราศจากสิทธิอันจะอ้างได้ตามกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดสิทธิอันพึงมีพึงได้โดยชอบของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,350,451.04 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ และไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่เคยสมคบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที 3 ละเมิดสิทธิโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 4 จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดนายประเสริฐ พรประสพ เป็นผู้ชำระบัญชี ส่วนจำเลยที่ 5ถึงแก่กรรม ศาลเรียกนายประเสริฐ พรประสพ เข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 4 และเรียกนางสาวบุษบา บำรุงกลาง ทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 5 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 5
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามาใหม่โดยอาศัยมูลหนี้กู้ยืมภายในกำหนดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,990,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์แล้วเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ 3 รับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชีประจำสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 4 ก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว บ้านพักครู ภารโรงและห้องน้ำห้องส้วม รวมราคา 942,000 บาท ตามสัญญาจ้างเลขที่7/2527 และวันที่ 10 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 1 จ้างจำเลยที่ 4ก่อสร้างอาคารเรียนและครุภัณฑ์อีก 1 หลัง รวมราคา 2,180,000 บาทตามสัญญาจ้างเลขที่ 8/2527 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 4 ทำสัญญากู้เงินโจทก์หลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.9 รวมเป็นเงินจำนวน 2,650,000 บาทโดยมีข้อความในข้อ 6 ของสัญญากู้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ซึ่งรวมจำนวนเงินที่กู้ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ด้วยว่า จำเลยที่ 4โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.10 แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาจ้างก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1 ถึงการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.12 และ ล.11 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 4 บางส่วน และจ่ายโจทก์บางส่วนเมื่อหักหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 แล้ว จำเลยที่ 4 ยังคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,990,000 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 4 โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างก่อสร้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์แล้วการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 4 อีกนั้น เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้” ส่วนวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย มีบัญญัติไว้ในมาตรา 306เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์และโจทก์กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาแจ้งมายังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้มีหน้าที่จะต้องเบิกจ่าย เงินค่าจ้าง จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 4 ปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 4 ในการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของโจทก์ตั้งแต่นั้น ส่วนจำเลยที่ 4ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยที่ 1 ไม่มีความผูกพันที่จะต้องจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 4 และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอนุมัติให้จ่ายได้ จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share