แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 6 ข้อ 13 ข้อ 15และข้อ 17 บัญญัติให้การทางพิเศษ จำเลยที่ 1 มีอำนาจซื้อจัดหา ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองหรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 โดยมีผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ 1ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิตฯพ.ศ. 2534 มีวัตถุประสงค์ที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโค่ลและสายพญาไท-ศรีนครินทร์โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางการพิเศษการเวนคืนที่ดินพิพาทจึงเป็นกิจการในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทของโจทก์ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ 1 ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ 3เป็นจำเลย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 7,330,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีในต้นเงิน 6,552,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า ตามพระราชกฤษฎีกาท้ายฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 เท่านั้น ที่มีหน้าที่เวนคืน ทั้งตามฟ้องไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนร่วมแต่อย่างใด จึงไม่รับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 3คงรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ก่อตั้งโดยประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 290 พ.ศ. 2515 มีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างทางจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีใด ๆ ตลอดจนดูแลรักษาทางพิเศษ แต่การกำหนดค่าทดแทนที่ดิน ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและอื่น ๆ กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นผู้กำหนดและตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวางเขตบางกะปิ เขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2534 กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนคำสั่งของศาลแพ่งที่ไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 2 ได้บัญญัติให้จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ขึ้น และให้เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ และในประกาศของคณะปฎิวัติฉบับดังกล่าว ข้อ 6 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 17บัญญัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 มีอำนาจซื้อ จัดหาถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองหรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1โดยมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 และในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษโดยมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 และถือว่าผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวันเขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลมและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2534 มีวัตถุประสงค์ที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ โดยมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ ดังนั้นการดำเนินการเวนคืนเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างทางพิเศษจึงเป็นกิจการในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1จึงเป็นการดำเนินการในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และในฐานะผู้แทนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ด้วยเมื่อโจทก์เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนอันเป็นกิจการส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน