คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9373/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการแก้ไขเรื่องการส่งเชื้อเพลิงไปยังหน่วยบินต่างจังหวัดโดยมีคำสั่งด้วยวาจาเป็นนโยบายว่าให้มีพลขับ 1 คนและผู้ควบคุมน้ำมัน 1 คน เป็นพลขับสำรองสามารถสับเปลี่ยนขับรถยนต์กับพลขับแทนกันได้ซึ่งแตกต่างจากระเบียบของกรมตำรวจโจทก์ที่ต้องให้มีพลขับ2 คน และผู้ควบคุมน้ำมัน 1 คนและมีการถือปฏิบัติกันตลอดมาแม้จะเป็นการสั่งด้วยวาจาก็ต้องถือว่าเป็นระเบียบและคำสั่งที่จำเลยทั้งสองต้องปฏิบัติตาม การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพลขับมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมน้ำมันขับรถยนต์แทนและเกิดพลิกคว่ำทำให้รถยนต์เสียหายในระหว่างทางจึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว ไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่แผนกเชื้อเพลิงและหล่อลื่น กองกำกับการ 4 กองบินตำรวจจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ แผนกยานพาหนะกองกำกับการ 4 กองบินตำรวจ จำเลยทั้งสองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองบินตำรวจให้เดินทางไปราชการเพื่อควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเบนซินและหล่อลื่นนำส่งหน่วยบินตำรวจจังหวัดตาก โดยรถยนต์บรรทุกของกองบินตำรวจหมายเลขโล่89009 จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เป็นพลขับ ให้ออกเดินทางตั้งแต่วันที่1 พฤษภาคม 2532 และเดินทางกลับในวันที่ 4 พฤษภาคม 2532เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 เวลากลางคืน จำเลยที่ 2ซึ่งมีจำเลยที่ 1 นั่งควบคุมไปด้วยได้ขับรถของโจทก์คันดังกล่าวบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นของโจทก์ออกจากกองบินตำรวจ กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนพหลโยธินมุ่งหน้าไปหน่วยบินตำรวจจังหวัดตาก ตามคำสั่งดังกล่าว เมื่อถึงเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ 2ซึ่งมีหน้าที่เป็นพลขับได้มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันดังกล่าวแทนโดยจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับไปถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 300 กับ 301 ถนนพหลโยธิน ตำบลโค้งไผ่อำเภอขารูวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร จำเลยที่ 1รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวนมากและเป็นวัตถุไวไฟมีอันตรายมาก จำเลยที่ 1 กลับขับรถด้วยความเร็วสูงด้วยความประมาทจนไม่สามารถรควบคุมรถให้แล่นในช่องเดินรถของตนได้หรือหยุดรถได้ทันเมื่อมีสิ่งกีดขวางอยู่ทางข้างหน้าทำให้ต้องหักหลบไปทางขวา เป็นเหตุให้เสียการทรงตัวรถแล่นลงไปไหล่ทางแล้วพลิกคว่ำ จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่พลขับละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาปล่อยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีหน้าที่ขับรถ ขับรถแทนด้วยความเร็วสูงจนเป็นเหตุให้รถยนต์และทรัพย์สินอื่นของโจทก์เสียหายจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 188,068.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุเกิดขึ้นมิใช่ความประมาทของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน186,068.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมู่ แผนกเชื้อเพลิงและหล่อลื่นกองกำกับการ 4 กองบินตำรวจมีหน้าที่ตรวจรับจ่ายจัดส่งเชื้อเพลิงทุกประเภทในกองบินตำรวจ จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมู่ แผนกยานพาหนะ กองกำกับการ 4 กองบินตำรวจทำหน้าที่พลขับ จำเลยทั้งสองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเบนซินและหล่อลื่นไปส่งที่หน่วยบินตำรวจจังหวัดตาก โดยรถยนต์บรรทุกหมายเลขโล่89009 ของกองบินตำรวจ กรมตำรวจ โดยให้จำเลยที่ 1ทำหน้าที่ผู้ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นพลขับ ให้ออกเดินทางในวันที่ 1 พฤษภาคม 2532และให้กลับกรุงเทพมหานครในวันที่ 4 พฤษภาคม 2532ตามสำเนาคำสั่งกองบินตำรวจเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวปรากฏว่ารถคันดังกล่าวพลิกคว่ำลงข้างทางชนต้นไม้ทำให้รถคันดังกล่าวและน้ำมันเชื้อเพลิงกับน้ำมันหล่อลื่นที่บรรทุกอยู่ในรถคันดังกล่าวได้รับความเสียหาย ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 และ ล.6 และรายการความเสียหายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงเอกสารหมาย จ.23ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิด ฟ้องบรรยายว่า จำเลยที่ 2ซึ่งมีหน้าที่พลขับละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ปล่อยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีหน้าที่ขับรถขับรถแทนด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์และทรัพย์สินอื่นของโจทก์เสียหาย แต่พยานโจทก์มีพันตำรวจโทธีรนันท์ ปกครองซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นหัวหน้าแผนกยานพาหนะ กองบินตำรวจและพันตำรวจเอกพิสิษฐ์ คงสำราญ รองผู้บังคับการกองบินตำรวจผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองและมีหน้าที่ในเรื่องยานพาหนะได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านยอมรับว่า ในระดับผู้บังคับบัญชาได้สั่งการแก้ไขเรื่องการส่งเชื่อเพลิงไปยังหน่วยบินต่างจังหวัดโดยมีคำสั่งด้วยวาจาเป็นนโยบายว่าให้มีพลขับ 1 คน และผู้ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง 1 คนซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่เป็นพลขับสำรองสามารถสับเปลี่ยนขับรถยนต์กับพลขับแทนกันได้ ส่วนระเบียบของกรมตำรวจที่ต้องให้มีพลขับ 2 คนและผู้ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง 1 คนเพราะอัตราพลขับของกองบินตำรวจมีไม่เพียงพอ จึงมีการสั่งการแก้ไขระเบียบดังกล่าวเพื่อให้การส่งน้ำมันของกองบินตำรวจไปยังหน่วยบินต่างจังหวัดเป็นไปทันความต้องการและมีการถือปฏิบัติกันตลอดมาเพื่อให้งานของกองบินตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้จะเป็นการสั่งด้วยวาจาก็ต้องถือว่าเป็นระเบียบและคำสั่งที่จำเลยทั้งสองต้องปฏิบัติตามดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แทนในระหว่างทาง จึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว ไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share