คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อันเป็นการขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) ซึ่ง โจทก์รู้ล่วงหน้าถึงข้อกำหนดคุณสมบัตินี้ จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจด้วย เป็นการตัดสิทธิโจทก์และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้จำเลยจ่ายบำเหน็จที่ค้างจ่ายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินตามที่กฎหมายแรงงานบังคับ ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จไปครบถ้วนแล้วและโจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุ ไม่ใช่กรณีที่นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โรงพิมพ์ตำรวจเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่กรมตำรวจเป็นเจ้าของ กิจการของโรงพิมพ์ตำรวจเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงกำไรในทางเศรษฐกิจและอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 นั้น เมื่อทางโรงพิมพ์ตำรวจออกข้อบังคับมา โจทก์ทั้งสามไม่ได้คัดค้านเอาไว้ทั้งที่มีสิทธิที่จะคัดค้านได้อยู่แล้ว กลับปล่อยนิ่งเฉยเป็นเวลาถึงสองปี ถือว่าเป็นการยินยอมโดยปริยายแล้ว ข้อบังคับดังกล่าวเมื่อโจทก์ทั้งสามยินยอมแล้วก็มีผลใช้บังคับกับโจทก์ทั้งสามได้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ทั้งสามครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งสามออกจากงานเพราะเหตุมีอายุ 60 ปี ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ในประการต่อมาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า เหตุที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานก็เพราะโจทก์ทั้งสามมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เป็นการขาดคุณสมบัติที่จะทำงานกับโรงพิมพ์ตำรวจต่อไปตามที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) กำหนดไว้ ซึ่งโจทก์ทั้งสามรู้อยู่ล่วงหน้าถึงข้อกำหนดคุณสมบัตินี้แล้ว จึงมิใช่กรณีที่จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share