คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9262/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญากู้เงินจำเลยที่ 2 มีข้อสัญญาว่าเพื่อเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน โจทก์ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินแก่จำเลย หากโจทก์ไถ่ถอนก่อนกำหนดจะมีส่วนลดให้ ข้อสัญญานี้ไม่ได้ขัดหรือลบล้างสัญญาขายฝาก แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ขอไถ่ที่ดินก่อนครบกำหนดโจทก์สามารถวางเงินสินไถ่ตามส่วนลดดังกล่าวได้ การนำสืบพยานของโจทก์เกี่ยวกับจำนวนเงินสินไถ่และส่วนลดหาใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาขายฝากไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10564ตำบลทับยาว อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แก่จำเลยที่ 1มีกำหนด 1 ปี เป็นจำนวนเงิน 2,300,000 บาท โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ในการรับซื้อฝาก ต่อมาก่อนครบกำหนดไถ่ถอนโจทก์ประสงค์จะขอไถ่ถอนที่ดินได้ติดต่อจำเลยทั้งสองขอชำระค่าไถ่ถอน แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้มาตามนัด โจทก์จึงนำเงินค่าไถ่ถอนที่ดินไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 2,016,500 บาท โดยหักส่วนลดแล้วและได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองมารับเงินค่าไถ่ถอนที่ดิน จำเลยทั้งสองทราบแล้วไม่มาจดทะเบียนไถ่ถอนให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ได้นัดกับผู้ที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อมาทำการจดทะเบียนซื้อขาย แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ต่อมาผู้จะซื้อไม่ประสงค์จะซื้อที่ดินในราคาที่ตกลงกันอีก โจทก์จึงไม่สามารถขายที่ดินได้และเสียหายเป็นจำนวน 3,721,134 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10564 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและสั่งให้จำเลยทั้งสองคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขามีนบุรี ออกใบแทนให้ด้วย กับชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 การขายฝากมีกำหนด 1 ปี กำหนดสินไถ่เป็นเงินจำนวน2,300,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงที่จะลดจำนวนเงินค่าสินไถ่สัญญากู้เอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2เป็นเอกสารปลอม โจทก์ไถ่ถอนการขายฝากเป็นจำนวนเงินที่ไม่ครบตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะไม่ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาท ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาเป็นเพียงความหวังของโจทก์ไม่เป็นที่แน่นอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับเงินสินไถ่ที่โจทก์วางไว้ ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดมีนบุรีแล้วจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10564 ตำบลทับยาวอำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเสียหายจำนวน 9,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2535จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2535 โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10564 ตำบลทับยาว อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานครแก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 รับมอบอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1มีกำหนด 1 ปี เป็นจำนวนเงิน 2,300,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.9 จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2535 โจทก์นัดจำเลยทั้งสองไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อไถ่ที่ดินที่ขายฝากแต่จำเลยทั้งสองไม่ไปโจทก์จึงนำเงินจำนวน 2,016,500 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดมีนบุรีตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปรับเงินจำนวนดังกล่าวคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การนำสืบพยานของโจทก์เกี่ยวกับจำนวนเงินสินไถ่และส่วนลดต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งการทำสัญญาขายฝากที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จะต้องทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก มิฉะนั้น สัญญาเป็นโมฆะกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94นอกจากนี้การทำสัญญาขายฝากไม่ถือว่าเป็นการกู้ยืม คู่สัญญาจะกำหนดสินไถ่สูงกว่าจำนวนเงินที่ขายฝากเพียงใดก็ได้ ดังนั้นเมื่อตามสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ระบุสินไถ่ไว้จำนวน2,300,000 บาท จึงต้องผูกพันกันตามนั้น การที่โจทก์นำสืบว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงเพียง 1,700,000 บาท มีการคิดดอกเบี้ยเดือนละ 51,000 บาท และมีส่วนลดให้อีกด้วยนั้น เท่ากับเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารตามสัญญาขายฝาก ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 รับฟังไม่ได้คดีจึงต้องฟังว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 กำหนดสินไถ่ไว้จำนวน2,300,000 บาท การที่โจทก์นำเงินจำนวน 2,016,500 บาท(รวมค่าใช้จ่าย 300 บาท) ไปไถ่ถอนการขายฝากไม่ครบถ้วนตามจำนวนสินไถ่ที่ตกลงกัน จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับการไถ่ถอนและจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากให้โจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์เช่นกันนั้นเห็นว่า การนำสืบพยานเรื่องการวางเงินค่าสินไถ่ของโจทก์หาใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาขายฝากไม่ เพราะเป็นการนำสืบถึงกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนครบกำหนด 1 ปี จะต้องชำระค่าสินไถ่เท่าใด โดยโจทก์อ้างสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.10เป็นหลักฐานว่ามีการตกลงกันตามที่โจทก์นำสืบ สัญญาดังกล่าวข้อ 1 ระบุว่าโจทก์กู้เงินจำเลยที่ 2 จำนวน 2,312,000 บาทไม่คิดดอกเบี้ยภายใน 1 ปี และข้อ 4 ระบุว่าเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10564 ส่วนลดเมื่อไถ่ถอนก่อนกำหนดจากเงินต้น 2,312,000 บาท 3 เดือนแรกส่วนลด 450,000 บาท เดือนที่ 3 ถึงเดือนที่ 11 ส่วนลดเดือนละ51,000 บาท แล้วต่อมาโจทก์วางเงินสินไถ่ตามส่วนลดก่อนครบกำหนดแต่ศาลอุทธรณ์หาได้หยิบยกเอกสารหมาย จ.10 ขึ้นวินิจฉัยไม่ทั้งที่ศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อสำคัญในคดีและจำเลยที่ 1 ก็ยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ด้วย ซึ่งหากศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอาจทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.10 เป็นเพียงภาพถ่ายที่โจทก์อ้างว่า ฝ่ายจำเลยทำแล้วถ่ายมอบให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเป็นเอกสารปลอม ในเมื่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93 บัญญัติว่า การอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้รับฟังได้เฉพาะต้นฉบับ เว้นแต่เอกสารนั้นคู่ความที่เกี่ยวข้องตกลงว่าสำเนาเอกสารถูกต้อง ฉะนั้นสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.10จึงรับฟังไม่ได้ อีกทั้งสัญญาขายฝากนั้นกฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในเมื่อเอกสารหมาย จ.10 โจทก์นำสืบว่าเป็นการกำหนดอัตราสินไถ่ไว้เป็นพิเศษหากมีข้อตกลงดังกล่าวจริงก็เป็นโมฆะเพราะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เห็นว่า เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 นำต้นฉบับมาแล้วถ่ายสำเนาให้โจทก์ จำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธว่าไม่ใช่ฝ่ายจำเลยทั้งสองทำขึ้นแล้วโจทก์จะนำต้นฉบับมาแสดงได้อย่างไร กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) กรณีที่ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารหมาย จ.10 ได้และข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ขัดหรือลบล้างสัญญาขายฝากแต่ประการใดเป็นเพียงกำหนดว่าหากโจทก์ขอไถ่ก่อนครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมลดสินไถ่ลงตามระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 พึงได้รับประโยชน์จากต้นเงินที่จ่ายให้แก่โจทก์ สัญญาดังกล่าวแม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่เป็นโมฆะ และจากการเปรียบเทียบลายมือชื่อในช่องผู้ให้กู้ในเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งเป็นชื่อจำเลยที่ 2กับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.9ในใบแต่งทนายความ ในคำให้การของจำเลยทั้งสองและในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม 2536 มีลีลาการเขียนที่คล้ายคลึงกันมาก เชื่อได้ว่าลายมือชื่อผู้ให้กู้ในเอกสารหมาย จ.10 เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 กระทำในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาขายฝากแสดงว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีการตกลงกันก่อนตามสัญญาเอกสารหมาย จ.9และ จ.10 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาขายฝาก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปคือ ค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใด จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายไปจริงแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับเงินสินไถ่ที่โจทก์วางไว้ ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดมีนบุรีแล้วจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10564เลขที่ดิน 180 แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share