คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9186/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกราคารถส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งไม่ใช่ค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่สงวนรักษาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้ชำรุดบุบสลายอันจะต้องนำอายุความ6 เดือน ในลักษณะเช่าทรัพย์มาใช้บังคับ ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถก็เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถระหว่างที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาและภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วก่อนที่จะยึดรถคืนมาได้ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและสำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคืนเป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและไม่ส่งมอบรถคืน การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้นล้วนมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์อีซูซุ หมายเลขทะเบียน 80-9667กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ในราคา 542,880 บาท โดยผ่อนชำระเป็น 48 งวด งวดละ 11,310 บาท ต่อเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 พฤษภาคม 2534 งวดต่อไปทุกวันที่ 15 ของเดือนจนกว่าจะครบโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 9 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ต่อไปอีก จนกระทั่งวันที่ 4 สิงหาคม 2536 โจทก์จึงติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพชำรุด และนำออกประมูลขายได้เป็นเงินเพียง 214,953.27 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหลังจากหักค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แล้วคงขาดอยู่เป็นเงิน237,400 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นเวลา 15 เดือนจำนวน 150,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการทวงถามติดตามสืบหารถอีกเป็นเงิน 3,700 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 391,100 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 391,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยทั้งสองเมื่อพ้นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1ส่งมอบรถยนต์คืนในวันที่ 4 สิงหาคม 2536 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน135,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย และการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ในราคา 542,880 บาทโดยสัญญาจะผ่อนชำระรวม 48 งวด ๆ ละ 11,310 บาท มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ตามลำดับ จำเลยที่ 1ผิดสัญญาเช่าซื้อโดยชำระเพียง 8 งวด สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ได้ติดตามยึดรถพิพาทคืนมา และขายให้บุคคลภายนอกไปแล้วมีค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทไปได้ต่ำกว่าที่ให้เช่าซื้อจำนวน 75,100 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถพิพาท 57,000 บาทและค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถพิพาทคืน 3,700 บาท รวมเป็นเงิน135,800 บาท
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายคือราคารถส่วนที่ขาด ค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามยึดรถพิพาทคืน ขาดอายุความหรือไม่ ตามคำฟ้องและข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ข้างต้นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายราคารถส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 หาใช่ค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1ไม่สงวนรักษาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้ชำรุดบุบสลายอันจะต้องนำอายุความ 6 เดือน ในลักษณะเช่าทรัพย์มาใช้บังคับไม่ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถพิพาทระหว่างที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาและภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วก่อนที่จะยึดรถคืนมาได้มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแต่อย่างใด และสำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถพิพาทคืนนั้นเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วและไม่ส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ซึ่งการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้นล้วนมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกันกับคดีนี้”
พิพากษายืน

Share