คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสามมิใช่เป็นบุคคลภายนอกที่ต้องห้ามมิให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนหุ้นจากจำเลยที่ 2 ยกการโอนขึ้นยันตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 199 ประกอบมาตรา 53 เพราะโจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้เพียงเท่าที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในหุ้นพิพาทเท่านั้นซึ่งถ้าการโอนหุ้นพิพาทสมบูรณ์แล้ว ผู้ร้องย่อมเป็นเจ้าของหุ้น ที่มีสิทธิขอให้ปล่อยหุ้นพิพาทได้ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 53มิได้มุ่งประสงค์บังคับโดยเด็ดขาดว่าหากไม่ลงทะเบียนการโอนแล้วจะโอนหุ้น กันไม่ได้ หากผู้รับโอนหุ้น ไม่ประสงค์จะลงทะเบียนการโอนก็ไม่จำต้องดำเนินการดังกล่าว การไม่ลงทะเบียนการโอนมีผลเพียงมิให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนใดหรือเงินปันผลแก่บุคคลที่มิได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหลักทรัพย์เท่านั้น เมื่อผู้ร้องมีหลักทรัพย์ประเภทหุ้นระบุชื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้ถือ และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนไว้อยู่ในครอบครอง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของหุ้นพิพาทโดยการโอนซึ่งไม่จำต้องลงทะเบียนการโอน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,400,364.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัดมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น จำนวน 30,200 หุ้น ตามใบหุ้นเลขที่ 19210-19214, 19219-19229, 19232-19243,52213, 52215 และ 52220 ตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งเพื่อนำออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของหุ้น ของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด จำนวน 200 หุ้น คือใบหุ้นเลขที่ 0052220 หุ้น หมายเลขที่ 10391035 ถึง 10391234มูลค่าตามที่จดทะเบียนไว้ราคาหุ้นละ 10 บาท รวม 200 หุ้นเป็นเงิน 2,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2535 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พีรเมียร์ จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของผู้ร้องสั่งให้ผู้ร้องขายหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริคจำกัด จำนวน 200 หุ้น ในราคาหุ้นละ 246 บาท ผู้ร้องจึงขายหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์จำกัด ไม่ส่งใบหุ้นให้แก่ผู้ร้องผู้ร้องจึงต้องส่งมอบใบหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเล็คทริค จำกัด ฉบับเลขที่อื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องให้แก่ผู้ซื้อแทนไปก่อนซึ่งการซื้อขายและส่งมอบใบหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามวิธีการซื้อขายหลักทรัพย์ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2535 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์ จำกัด ได้ส่งมอบใบหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซลอีเล็คทริค จำกัด ใบหุ้นเลขที่ 0052220 ให้แก่ผู้ร้องเพื่อทดแทนใบหุ้นที่ผู้ร้องได้ส่งมอบให้ผู้ซื้อแทนไปก่อนแล้วผู้ร้องจึงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริคจำกัด ตามใบหุ้นเลขที่ 0052220 จำนวน 200 หุ้น การยึดหุ้นตามใบหุ้นดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ขอบ เพราะขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ถือหุ้น หากแต่เป็นของผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2535ซึ่งเป็นวันที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์ จำกัดส่งมอบให้แก่ผู้ร้องขอให้มีคำสั่งถอนการยึดหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด ใบหุ้นเลขที่ 0052220
โจทก์ยื่นคำให้การว่า ในขณะที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดหุ้นพิพาทนั้น ตามหลักฐานทางทะเบียนมีชื่อนายไมตรี โมชดารา จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ประการใด นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหุ้นของบริษัท ดังนั้นการโอนหุ้นจะสมบูรณ์และใช้ยันบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทะเบียนการโอนต่อทะเบียนแล้ว แต่ผู้ร้องมิได้กระทำการผ่านขั้นตอนการรับโอนโดยถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การที่ผู้ร้องอ้างว่าได้นำใบหุ้นฉบับอื่นที่มีจำนวนเท่ากันมอบให้แก่ผู้ซื้อแทนไป และเพิ่งได้รับใบหุ้นพิพาทมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์ จำกัด เป็นเรื่องที่ผู้ร้องบริการให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์จำกัด ลูกค้าของผู้ร้อง และในฐานะเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อันเป็นวัตถุประสงค์ของผู้ร้องเท่านั้น หาทำให้การที่ผู้ร้องรับหุ้นดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์ จำกัดกลายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้นพิพาทไม่ โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริต ก่อนการยึดโจทก์ก็ได้ตรวจสอบทางทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงว่าศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าผู้ร้องเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ในการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2535 ผู้ร้องได้รับคำสั่งจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์ จำกัดให้ขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซลอีเล็คทริค จำกัด ซึ่งได้จดทะเบียนไว้กับตลาดหลักทรัพย์จำนวน 200 หุ้น ผู้ร้องได้ขายให้ตามคำสั่ง ต่อมาวันที่ 31สิงหาคม 2535 บริษัทผู้สั่งขายได้มอบหุ้นของบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นประเภทและชนิดเดียวกัน จำนวน 200 หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นพิพาทมีจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนดังปรากฎตามเอกสารหมาย ร.5แทนหุ้นที่ผู้ร้องได้ขายไป สำหรับปัญหาที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยหุ้นพิพาทหรือไม่นั้นมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ผู้ร้องได้รับโอนหุ้นชนิดระบุชื่อมาแทนหุ้นที่ตนขายไป แต่ยังมิได้มีการลงทะเบียนการโอน จะถือว่าเป็นการโอนโดยสมบูรณ์และยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ เห็นว่า แม้ตามมาตรา 199 ประกอบมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จะมีความว่าหุ้นที่ได้รับโอนมาหากยังไม่มีการลงทะเบียนการโอนจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ก็ตาม แต่โจทก์มิใช่เป็นบุคคลภายนอกที่ต้องห้ามมิให้ผู้รับโอนยกการโอนขึ้นยันตามมาตรา 199 ประกอบมาตรา 53 เพราะโจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้เพียงเท่าที่จำเลยที่ 2มีสิทธิอยู่ในหุ้นพิพาทเท่านั้น ดังนั้น ถ้าการโอนหุ้นพิพาทสมบูรณ์แล้ว ผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนย่อมเป็นเจ้าของหุ้นที่มีสิทธิขอให้ปล่อยหุ้นพิพาทได้ ข้อที่ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของหุ้นพิพาทหรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มิได้มุ่งประสงค์โดยเด็ดขาดว่าหากไม่ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้วหุ้นจะโอนกันไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา 53 นั้นใช้คำว่าผู้รับโอนหุ้นผู้ใดประสงค์จะลงทะเบียนการโอน ให้ยื่นคำขอต่อบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือนายทะเบียน ดังนั้น หากผู้รับโอนหุ้นไม่ประสงค์จะลงทะเบียนการโอนก็ไม่จำต้องดำเนินการดังกล่าว การไม่ลงทะเบียนการโอนมีผลเพียงมิให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนใดหรือเงินปันผลแก่บุคคลที่มิได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ตามนัยมาตรา 54 และมาตรา 194 เท่านั้น การโอนหุ้นย่อมกระทำได้ในเมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา 51 แห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีความว่า มีการส่งมอบใบหลักทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนโดยลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนยิ่งกว่านั้นมาตรา 52 แห่งกฎหมายดังกล่าวยังมีความว่า ผู้ใดครอบครองใบหุ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของหุ้นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องมีหลักทรัพย์ประเภทหุ้นระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือ และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนไว้และอยู่ในครอบครองของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของหุ้นพิพาทโดยการโอนซึ่งไม่จำต้องลงทะเบียนการโอน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ปล่อยหุ้นบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซลอีเลคทริค จำกัด ตามใบหุ้นเลขที่ 0052220 ทะเบียนผู้ถือหุ้นเลขที่ 6160001174 หุ้นหมายเลขที่ 10391035 ถึงหมายเลขที่10391234 จำนวน 200 หุ้น ซึ่งมีชื่อนายไมตรี โมชดาราจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นตามเอกสารหมาย ร.5

Share