แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยโอนเงินทางโทรศัพท์เข้าบัญชีโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653แต่เป็นการชำระหนี้อย่างอื่น เมื่อโจทก์ยอมรับแล้วหนี้เงินกู้จึงระงับลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปจำนวน 300,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระเงินคืนขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 429,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์จริง แต่ชำระคืนแก่โจทก์เรียบร้อยแล้วโดยโอนเงินจำนวน 300,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามหาสารคาม ตามที่ตกลงกัน ส่วนดอกเบี้ยนั้นโจทก์ได้หักเงินจากจำเลยไว้ล่วงหน้า1 เดือนเป็นเงิน 15,000 บาท แล้วโจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปจำนวน 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากบัญชีเลขที่ 296-07304-9 ของโจทก์เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายใบเสร็จรับเงินโอนเงินทางโทรศัพท์เอกสารหมาย ล. ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยชำระหนี้เงินกู้พิพาทให้โจทก์แล้วหรือไม่จำเลยอ้างตนเองเบิกความว่า จำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้พิพาทแก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 300,000 บาท โดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามหาสารคาม 298 การโอนเงินดังกล่าวธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเชียงยืน 488 ได้ออกหลักฐานการโอนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายใบรับโอนเงินทางโทรศัพท์เอกสารหมาย ล.1 ในข้อนี้โจทก์ก็ยอมรับว่าจำนวนเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีโจทก์เรียบร้อยแล้ว โจทก์อ้างตนเองเบิกความว่า จำเลยเคยกู้เงินโจทก์ไปหลายครั้งจำนวนเงิน 300,000บาท ที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้รายอื่นไม่เกี่ยวกับหนี้รายพิพาท ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปจำนวน300,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง แต่การที่จำเลยโอนเงินทางโทรศัพท์เข้าบัญชีโจทก์ตามสำเนาภาพถ่ายใบรับโอนเงินทางโทรศัพท์ไม่เข้าบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแต่เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้ว โจทก์อ้างแต่เพียงว่าจำเลยชำระหนี้เงินกู้รายอื่นไม่เกี่ยวกับหนี้รายพิพาท โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่าหนี้รายอื่นเป็นหนี้รายใด ทั้งตามคำเบิกความของโจทก์เองก็ได้ความว่าหนี้รายอื่นนั้นได้มีการกู้ต้นเดือนพอปลายเดือนก็ชำระกันแล้ว แสดงว่าหนี้รายอื่นนั้นไม่มีการติดค้าง คงมีหนี้รายพิพาทติดค้างเพียงรายเดียว ข้ออ้างของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้โอนเงินทางโทรศัพท์เข้าบัญชีโจทก์จำนวน 300,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้รายพิพาท หนี้เงินกู้จึงระงับลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน