คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งใหม่ ศาลชั้นต้นชอบที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งใหม่โดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนที่ได้มีการไต่สวนไว้แล้วนั้นได้ โดยไม่จำต้องให้ผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติมใหม่อีก ในชั้นร้องขอให้ถอนการยึดทรัพย์ เมื่อเจ้าพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเห็นว่าข้ออ้างในการขอเลื่อนการสอบสวนของผู้ร้องไม่มีเหตุผลสมควร โดยมีเจตนาประวิงคดีประกอบกับคดีมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นปรากฏชัดว่าผู้ร้องได้ขายที่ดินที่ถูกยึดให้แก่ลูกหนี้แล้ว ผู้คัดค้านชอบที่จะงดสอบสวนเสียได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 158

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2529 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2530
ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1312ถึง 1317 เนื้อที่ประมาณ 1,039 ไร่ ซึ่งลูกหนี้และบริษัทที.แอล.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขอยืมโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ไปจากผู้ร้องทั้งสองและจดทะเบียนโอนใส่ชื่อลูกหนี้และบริษัทที.แอล.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านสอบสวนและมีคำสั่งคืนโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง แต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนำเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 6,502,100 บาท มาวางภายใน 7 วันผู้ร้องทั้งสองได้โต้แย้งคำสั่งของผู้คัดค้านว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองราคานับวันแต่จะสูงขึ้น ผู้ร้องทั้งสองเป็นฝ่ายที่ต้องเสียหายขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินประกันค่าเสียหาย หากเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องวางเงินประกัน ก็ขอให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินที่ต้องวางให้ลดน้อยลง
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 11 มิถุนายน 2533 ว่าผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 23 มีนาคม 2533 ต่อผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่1312 ถึง 1317 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2526 ลูกหนี้และบริษัทที.แอล.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งสองโดยอ้างว่าจะนำไปเพื่อประกอบการตัดสินใจในการขยายกิจการของลูกหนี้และบริษัทที.แอล.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แต่ลูกหนี้และบริษัทที.แอล.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กลับโอนทะเบียนใส่ชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของตน โดยผู้ร้องทั้งสองไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย แล้วลูกหนี้และบริษัทที.แอล.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้นำไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัด ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2533ธนาคารกรุงไทย จำกัด นำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดนครนายกยึดที่ดินพิพาทไว้แทนผู้คัดค้าน ผู้ร้องทั้งสองขอคืนโฉนดที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านนัดสอบสวนคำร้องของผู้ร้องทั้งสองในวันที่ 9 พฤษภาคม 2533 ก่อนวันนัดสอบสวน ผู้คัดค้านได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 6,502,100 บาท ผู้ร้องทั้งสองไม่วางเงินและได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลซึ่งอยู่ระหว่างนัดไต่สวนคำร้องต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2533 ซึ่งเป็นวันนัดสอบสวนผู้ร้องทั้งสองขอเลื่อนนัดอ้างเหตุติดราชการของกรุงเทพมหานครผู้คัดค้านมีคำสั่งให้งดสอบสวนและยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าคำร้องของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูล ไม่มีเหตุอันควรรับฟังและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดี ประกอบกับผู้คัดค้านมีคำสั่งให้วางเงินประกันค่าเสียหาย แต่ผู้ร้องมิได้วางเงินประกันโดยยื่นคำร้องคัดค้านและถึงกำหนดนัดสอบสวนผู้ร้องไม่นำพยานมาให้ผู้คัดค้านสอบสวนกลับขอเลื่อนโดยไม่มีเหตุที่จะเลื่อนผู้ร้องทั้งสองคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 158 ผู้ร้องทั้งสองมีเหตุจำเป็นและขอเลื่อนนัดเพียงครั้งแรก ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านถอนการยึดทรัพย์และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกับคืนโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง หรือให้เพิกถอนคำสั่งเดิมของผู้คัดค้านแล้วดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสองต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้ร้องทั้งสองฉบับว่าผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 23 มีนาคม 2533 ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่1312 ถึง 1317 ผู้คัดค้านได้นัดสอบสวนและให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินประกันค่าเสียหายตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 122/2533ลงวันที่ 30 มีนาคม 2533 และนัดสอบสวนผู้ร้องทั้งสองในวันที่9 พฤษภาคม 2533 แต่เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2533 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านเรียกผู้ร้องทั้งสองให้วางเงินประกันค่าเสียหาย 20,000,000 บาท ผู้คัดค้านได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 6,502,100 บาทเพื่อประกันค่าสินไหมทดแทนแก่กองทรัพย์สินตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วย การบังคับคดีล้มละลายและการชำระบัญชี พ.ศ. 2520 ข้อ 65 ต่อมาวันที่9 พฤษภาคม 2533 ซึ่งเป็นวันนัดสอบสวนพยานผู้ร้องทั้งสองผู้ร้องทั้งสองทราบนัดแล้ว แต่ไม่นำพยานหลักฐานมาให้การสอบสวนซึ่งเจ้าหนี้และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้รอซักค้านอยู่จนถึงเวลา 11 นาฬิกา ผู้ร้องทั้งสองได้มอบอำนาจให้นายสุธรรม อรุณพูลทรัพย์ มาพบผู้คัดค้านแถลงขอเลื่อนการสอบสวนโดยอ้างว่าผู้ร้องที่ 1 ป่วย ส่วนผู้ร้องที่ 2 ติดราชการของกรุงเทพมหานครต้องเตรียมการประชุมในวันที่ 10 พฤษภาคม 2533ไม่อาจมาให้การสอบสวนได้ ผู้คัดค้านเห็นว่าการที่ผู้ร้องที่ 1อ้างว่าป่วยมิได้มีใบรับรองแพทย์มาแสดงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆส่วนผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่าต้องเตรียมการประชุมไม่มีเหตุผลสมควรผู้คัดค้านจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการสอบสวน คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งงดสอบสวนพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสองชอบด้วยเหตุผลแล้วขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.208/2534 ของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีแทนผู้ร้องที่ 1ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดินทั้ง 6 แปลงไม่ใช่ของผู้ร้องทั้งสองคำสั่งผู้คัดค้านที่ให้งดการสอบสวนชอบแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 6,502,100 บาทนั้นชอบหรือไม่ คำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเลื่อนการนัดสอบสวนคำร้องที่ขอคืนโฉนดที่ดิน ให้งดการสอบสวนและยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองนั้นเป็นการชอบหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยตามประเด็นข้อแรกกลับวินิจฉัยในข้อที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ ในชั้นนี้ผู้ร้องทั้งสองยังมิได้มีการดำเนินคดีร้องขัดทรัพย์ ซึ่งจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นคดีร้องขัดทรัพย์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และผู้ร้องทั้งสองก็อุทธรณ์ในข้อที่วินิจฉัยนอกประเด็นนั้นด้วย กรณีเป็นเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งพิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และยกอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองในศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นได้เรียกเก็บค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์แล้วมีคำสั่งใหม่ โดยฟังว่า คำสั่งผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินประกันและงดสอบสวนชอบแล้ว และคดีฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 6 ฉบับ มีชื่อลูกหนี้และบริษัทที.แอล.เอช.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ลูกหนี้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัดเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ผู้คัดค้านได้ยึดที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง เข้ารวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 2 ในประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องที่ 2 วางเงินประกันความเสียหายชอบแล้ว โดยมิได้ให้ผู้ร้องที่ 2 สืบพยานหรือกล่าวอ้างพยานจนเป็นที่เพียงพอนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่าประเด็นที่ว่าคำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องที่ 2 วางเงินประกันความเสียหายชอบหรือไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องที่ 2 กล่าวอ้างในคำร้อง ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนคำร้องและผู้ร้องที่ 2 ก็ได้นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนจนเป็นที่พอใจแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งใหม่ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งใหม่โดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนที่ได้มีการไต่สวนไว้แล้วนั้นได้ หาจำต้องให้ผู้ร้องที่ 2 สืบพยานเพิ่มเติมใหม่อีกไม่ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 ต่อมาที่ว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้งดการสอบสวนแล้วยกคำร้องขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 158 นั้น เห็นว่าเมื่อผู้คัดค้านได้รับคำร้องของผู้ร้องที่ 2 แล้ว ก็ได้นัดสอบสวน แต่เมื่อถึงวันนัดผู้ร้องที่ 2 ไม่ไปตามกำหนดนัดและขอเลื่อนวันนัดสอบสวนไปแต่ผู้คัดค้านพิจารณาเห็นว่าข้ออ้างในการขอเลื่อนการสอบสวนไม่มีเหตุผลสมควร โดยมีเจตนาประวิงคดี ทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้รับความเสียหาย ประกอบกับคดีมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นปรากฏชัดว่า ตามสารบาญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง มีชื่อลูกหนี้เป็นเจ้าของรวมและตามหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ลูกหนี้แล้ว เช่นนี้ ผู้คัดค้านชอบที่จะให้งดสอบสวนเสียได้เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าไปซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งต้องการให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยด่วน ที่ผู้คัดค้านงดสอบสวน จึงหาได้ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 158 แต่อย่างใดไม่”
พิพากษายืน

Share