คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2612/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าเป็นผู้รับ พินัยกรรม ผู้คัดค้านคัดค้านว่าพินัยกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดก ดังนี้เป็นเรื่องผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น มิใช่พิพาทกันในเรื่องทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ผลของคดีไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางสาวประกอบ หัตถกรรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน คือ นางสาวประกอบ นายประสงค์ หัตถกรรมนายไพศาล หัตถกรรม นายไพโรจน์ หัตถกรรม นายเก็บ หัตถกรรมและนางประหยัด หัตถกรรมหรือดนัยธรรมกุล เมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2532 นางสาวประกอบทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5267 และ 5270 ให้แก่ผู้ร้องและยกทรัพย์สินอื่นให้แก่พี่น้องของนางสาวประกอบ โดยตั้งนายประสงค์เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 นางสาวประกอบถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้นายประสงค์จัดการแบ่งปันมรดกของนางสาวประกอบ แต่นายประสงค์ไม่แสดงความจำนงเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางสาวประกอบในฐานะผู้รับพินัยกรรม ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวประกอบ
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ขณะที่นางสาวประกอบมีชีวิตอยู่ได้ป่วยเป็นโรคทางประสาทและสมองอย่างรุนแรง มีอาการชักกระตุกความจำเสื่อม สติฟั่นเฟือน ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ในช่วงระหว่างทำพินัยกรรมตามคำร้องขอ นางสาวประกอบไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีเป็นบางขณะ ไม่อาจมีความคิดหรือรู้สำนึกในเรื่องทรัพย์สินของตน นางสาวประกอบทำพินัยกรรมโดยถูกผู้ไม่หวังดีชักจูงหรือหลอกลวง มิได้ทำโดยสุจริตมีสติสัมปชัญญะพินัยกรรมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งพินัยกรรมระบุตั้งให้นายประสงค์เป็นผู้จัดการมรดกด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้คัดค้านเป็นน้องชายของนางสาวประกอบทั้งทายาทอื่นของนางสาวประกอบยินยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวประกอบแล้ว ขอให้ยกคำร้องแล้วมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวประกอบผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายไพโรจน์ หัตถกรรม ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวประกอบ หัตถกรรม ผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสามารถทำพินัยกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1654 วรรคหนึ่งพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 จึงชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการต่อมามีว่าคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวประกอบผู้ตาย โดยอ้างว่าเป็นผู้รับพินัยกรรมผู้คัดค้านคัดค้านว่าพินัยกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิเป็นผู้รับมรดก ดังนี้เป็นเรื่องผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น มิใช่พิพาทกันในเรื่องทรัพย์สินมรดกตามพินัยกรรมผลของคดีไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลล่างสองศาลวินิจฉัยมาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share