คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1014/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 ให้คิดค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละห้าจากจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ทั้งหมดแม้ต่อมาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้วเจ้าหนี้ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ไป คงเหลือเจ้าหนี้เพียงรายเดียวก็ตาม ก็ต้องคิดจากจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ทั้งหมด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาด และลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้ชำระเงินจำนวน 297,620.64 บาทเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 130(1) ถึง (7)
ลูกหนี้ยื่นคำร้องว่า เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวม 6 ราย เป็นเงิน 22,186,131 บาทแต่ภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้วเจ้าหนี้ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ไป 5 ราย คงเหลือเจ้าหนี้เพียงรายเดียวที่ขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 3,252,131 บาท การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(1) ถึง (7)จากลูกหนี้โดยคิดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนร้อยละ 25 ของยอดหนี้ทั้งหมด 22,486,131 บาทเป็นเงิน 297,620.64 บาท ไม่ถูกต้องที่ถูกต้องนั้นต้องคิดในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนร้อยละ 25 ของยอดหนี้ 3,252,131 บาทตามที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้เป็นเงิน 813,032.75 บาท ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 40,651.64 บาท และเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอันประกอบด้วยค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ อีก 16,544 บาทแล้ว เป็นเงินที่ลูกหนี้จะต้องชำระทั้งสิ้น 57,195.64 บาทขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับชำระหนี้จากลูกหนี้จำนวน 57,195.64 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้ตกลงไว้ในคำขอประนอมหนี้ว่า จะชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(1) ถึง (7)เต็มจำนวนหนี้ที่ศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ซึ่งขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้นั้น มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้รวม 6 ราย เป็นเงิน 22,486,131 บาท ลูกหนี้จึงต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนร้อยละ 25ของยอดหนี้ดังกล่าวตามที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้เป็นเงิน5,621,532.75 บาท ซึ่งคิดเป็นเงิน 281,076.64 บาทเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและค่าทนายความอีก16,544 บาท แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 297,620.64 บาทตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งคำสั่งให้ลูกหนี้ทราบโดยปิดหมาย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2536ลูกหนี้ขอลดค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยันตามคำสั่งเดิมและแจ้งให้ลูกหนี้ชำระภายในวันที่ 13 สิงหาคม 2536ลูกหนี้ขอเลื่อนและต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2536 ลูกหนี้ได้ชำระบางส่วนและขอผัดไปชำระส่วนที่เหลือในวันที่ 22 กันยายน2536 ลูกหนี้มิได้คัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสอบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และลูกหนี้แล้วปรากฏว่าลูกหนี้ยื่นคำร้องเกิน 14 วัน ซึ่งฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 จึงมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องของลูกหนี้และยกคำร้อง
ลูกหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของลูกหนี้มีว่าลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้เกินกำหนด 14 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 หรือไม่ เห็นว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 พฤศจิกายน2536 มีข้อความว่า “ศาลสอบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจำเลย(ลูกหนี้) แล้วปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องเกินกำหนด 14 วันซึ่งฝ่าฝืน มาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จริง”ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงคำสรุปและวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเพราะไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้แถลงรับข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลเกินกำหนดแต่อย่างใด ซึ่งหากศาลชั้นต้นสอบลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้แถลงรับ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะจดให้ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา เมื่อไม่ได้จดให้ปรากฏ ก็จะถือว่าลูกหนี้ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวหาได้ไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อใดอันจะนำไปสู่การวินิจฉัยว่าลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลเกินกำหนดหรือไม่คดีจึงจำต้องสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏหรือไต่สวนให้สิ้นกระแสความเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่าลูกหนี้ยื่นคำร้องเกินกำหนดให้งดไต่สวนคำร้องของลูกหนี้และยกคำร้องซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า แม้ลูกหนี้จะยื่นคำร้องภายในกำหนดก็ตามแต่สำหรับปัญหาตามฎีกาของลูกหนี้ในข้อต่อไปที่ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนร้อยละ 25 ในยอดหนี้ 22,486,131 บาทที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้และศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้เป็นเงิน 5,621,532.75 บาท ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียม 281,076.64บาท และเมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีก 16,544 บาทเป็นเงินทั้งสิ้น 297,620.64 บาท ชอบหรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 บัญญัติว่า “ค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายให้คิดตามอัตราดังต่อไปนี้ (3) แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ฯลฯ” ซึ่งหมายถึงให้คิดค่าธรรมเนียมจากจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ทั้งหมดและเมื่อตามคำร้องของลูกหนี้ รับว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 6 ราย เป็นเงิน 22,486,131 บาทลูกหนี้ขอประนอมหนี้ร้อยละ 25 ต่อมาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้ว เจ้าหนี้จึงถอนคำขอรับชำระหนี้ไป5 ราย คงเหลือเจ้าหนี้เพียงรายเดียวที่ขอรับชำระหนี้เป็นเงิน3,252,131 บาท ดังนี้ จำนวนเงินที่ประนอมหนี้คือร้อยละ 25ของหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ทั้งหมด 22,486,131 บาท คิดเป็นเงิน5,621,532.35 บาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คิดค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 5 จากจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ดังกล่าวเป็นเงิน281,076.64 บาท และเมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีก 16,544 บาทซึ่งลูกหนี้มิได้โต้แย้งในส่วนนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 297,620.64 บาทจึงชอบแล้ว ปัญหาดังกล่าวศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้วศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและโดยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของลูกหนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share