คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 มาตรา 5 ตอนท้ายที่ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ ย่อมหมายความเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าความประพฤติหรือการกระทำที่เป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษทางวินัยถูกลบล้างไปด้วยเพราะเรื่องความประพฤติหรือการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วไม่อาจล้างมลทินให้หมดไปได้ กรมที่ดินมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทางวินัยให้ปลดออกจากราชการฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มีควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา แต่ตามพระราชบัญญัติ ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มีผลเพียงให้ถือว่าโจทก์ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ปลดออกจากราชการเท่านั้นแต่การกระทำหรือความประพฤติของโจทก์ที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่หรืออื่น ๆ ไม่ได้ถูกลบล้างไปด้วย ดังนั้นที่คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้รับการล้างมลทินและเป็นการกระทำที่ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 มาตรา 19(7)ที่ว่าไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเป็นช่างรังวัดเอกชนและมีสิทธิได้รับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน ตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 จึงได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดังกล่าวต่อคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานการประชุมในที่ประชุมคณะกรรมการ และจำเลยที่ 3เป็นหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน โดยโจทก์แนบหลักฐานที่โจทก์เคยดำรงตำแหน่งช่างรังวัดสังกัดกรมที่ดินและหนังสือรับรองความประพฤติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดไว้ไปด้วย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกได้ประชุมพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนของโจทก์แล้วลงมติว่า กรมที่ดินมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2525ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ แม้โจทก์จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 แล้วก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวเป็นความประพฤติที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19(7) แห่งพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 คือเป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี จึงไม่สมควรที่จะให้เป็นช่างรังวัดเอกชนโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านมติของคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนต่อจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 4 เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน ซึ่งมติของคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 4 ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 และเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้บุคคลที่เคยถูกลงโทษทางวินัยได้รับการล้างมลทินเพื่อให้ได้มีสิทธิสมบูรณ์เช่นเดียวกับบุคคลทั้งหลายซึ่งไม่เคยได้รับโทษ นับแต่โจทก์ได้รับโทษทางวินัยโจทก์ไม่เคยกระทำความผิดหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีอย่างใดเลย และโจทก์มีข้าราชการระดับ 6 และ 7 รับรองความประพฤติถูกต้องตามกฎหมายโจทก์จึงมีสิทธิเป็นช่างรังวัดเอกชนได้ ขอให้พิพากษาว่ามติของคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3กับพวกรวม 8 คน ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เป็นช่างรังวัดเอกชนและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนให้แก่โจทก์ตามคำขอลงวันที่ 16 ธันวาคม 2535
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 ให้ล้างแต่เพียงมลทินของโทษเท่านั้น แต่การประพฤติตนไม่เหมาะสมของโจทก์หาถูกล้างไปด้วยไม่ จำเลยทั้งสี่นำความประพฤติของโจทก์มาประกอบการพิจารณาได้ คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ปรากฏว่าโจทก์ไม่นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 4ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 จึงให้จำหน่ายคดีของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่5 ธันวาคม 2530 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ”โจทก์ซึ่งถูกลงโทษทางวินัยก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับย่อมได้รับประโยชน์ในอันที่จะต้องถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 มาตรา 5 ตอนท้ายที่ระบุว่า โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ ย่อมหมายความเพียงว่า ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยเท่านั้นหาได้หมายความว่าความประพฤติหรือการกระทำที่เป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษทางวินัยถูกลบล้างไปด้วยไม่ เพราะเรื่องความประพฤติหรือการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วไม่อาจล้างมลทินให้หมดไปได้ กรณีของโจทก์ที่กรมที่ดินมีคำสั่งลงโทษทางวินัยให้ปลดออกจากราชการ ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 มีผลเพียงให้ถือว่า โจทก์ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ปลดออกจากราชการเท่านั้น แต่การกระทำหรือความประพฤติของโจทก์ที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่หรืออื่น ๆ ไม่ได้ถูกลบล้างไปด้วยดังนั้น ที่คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการอยู่ด้วย เห็นว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้รับการล้างมลทินและเป็นการกระทำที่ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 มาตรา 19(7)ที่ว่าไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษายืน

Share