คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารต้องยื่นสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่นล่วงหน้าก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานนั้น นอกจากเพื่อประโยชน์ในการที่ศาลจะได้สอบถามคู่ความเกี่ยวกับเอกสารนั้นในวันชี้สองสถานแล้วยังมีความประสงค์จะให้ศาลและคู่ความได้ทราบล่วงหน้าก่อนสืบพยานว่า พยานเอกสารที่คู่ความแต่ละฝ่ายอ้างเกี่ยวกับคดีอย่างไร เอกสารมีความน่าเชื่อถือในเบื้องต้นอย่างไรหรือไม่ และให้คู่ความฝ่ายที่ถูกยันด้วยเอกสารนั้นได้มีโอกาสตรวจสอบในเบื้องต้นว่าเอกสารที่อ้างอิงมีความถูกต้องแท้จริงเพียงใด หรือสำเนาที่ยื่นไว้ตรงกับต้นฉบับเอกสารหรือไม่ สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำเนาหนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรม หนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ส่งศาลในวันพิจารณามีข้อความอย่างเดียวกันกับสำเนาเอกสารที่แนบมาท้ายฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสามได้รับสำเนาคำฟ้องพร้อมกับสำเนาเอกสารท้ายฟ้องแล้วก็เป็นการถูกต้องตามความประสงค์ของบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้โจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามอีก ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นนั้นได้ในเมื่อเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าโคโรล่า หมายเลขทะเบียน 5จ-7605 กรุงเทพมหานครจากโจทก์ในราคา 385,008 บาทตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็น48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 8,021 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 8 กันยายน 2533 งวดต่อไปทุกวันที่ 8 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 19 งวด เป็นเงิน 152,399 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดที่ 20 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 8 เมษายน 2535ติดต่อกันถึงงวดที่ 23 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 8 กรกฎาคม 2535เกินสองงวดติดต่อกันสัญญาเป็นอันสิ้นสุดลง โจทก์ให้พนักงานโจทก์สืบหาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 ปรากฏว่ารถยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างมากเนื่องจากขาดการดูแลรักษาวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือยืนยันบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายได้ราคา 110,000 บาท โจทก์ได้รับความเสียหายคือค่าเช่าซื้อในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ตั้งแต่ งวดที่ 20 ถึงงวดที่ 23 รวมเป็นเงิน32,084 บาท ค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเป็นเงิน 2,000 บาท ราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่อีกเป็นเงิน 122,609 บาท และเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ2.5 ต่อเดือนของค่างวด 8,021 บาทเป็นเงิน4,665.54 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วในส่วนนี้2,415 บาท คงเหลือเป็นเงิน 2,250.54 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 158,943.54 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 158,943.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้เช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจริงต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์มารับรถยนต์คืนไป หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ไม่ได้ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนรถยนต์ดังกล่าวที่โจทก์รับคืนไปมีสภาพเรียบร้อยดีมากโจทก์ไม่เคยมีหนังสือทวงถามหรือบอกเลิกสัญญา รถยนต์ที่เช่าซื้อหากนำออกขายจะได้ราคาไม่ต่ำกว่า 235,000 บาทจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อในระหว่างผิดนัดค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนราคารถยนต์ยังขาด และเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยด้วยค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดหากมีก็ไม่เกิน 2,700 บาท ส่วนค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมีเพียงค่าพาหนะไม่เกิน100 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะได้แจ้งให้โจทก์มารับรถยนต์คืนไปแต่โจทก์ไม่ยอมมารับคืนอันเป็นความผิดของโจทก์เองจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาโจทก์ไม่เสียหายไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อในระหว่างผิดนัดราคารถยนต์เช่าซื้อที่ขาดและดอกเบี้ย ค่าติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหากมีก็ไม่เกิน 100 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน47,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 กันยายน 2535) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหนังสือรับรองนิติบุคคลหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีหนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมหนังสือสัญญาเช่าซื้อ และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.6 ต่อศาลเพื่อให้ จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาโดยนำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารต้องยื่นสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่นล่วงหน้าก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานนั้นนอกจากเพื่อประโยชน์ในการที่ศาลจะได้สอบถามคู่ความเกี่ยวกับเอกสารนั้นในวันชี้สองสถานแล้ว ยังมีความประสงค์จะให้ศาลและคู่ความได้ทราบล่วงหน้าก่อนสืบพยานว่าพยานเอกสารที่คู่ความแต่ละฝ่ายอ้างเกี่ยวกับคดีอย่างไรเอกสารมีความน่าเชื่อถือในเบื้องต้นอย่างไรหรือไม่และให้คู่ความฝ่ายที่ถูกยันด้วยเอกสารนั้นได้มีโอกาสตรวจสอบในเบื้องต้นว่าเอกสาร อ้างอิงมีความถูกต้องแท้จริงเพียงใด หรือสำเนาที่ยื่นไว้ตรงกับต้นฉบับเอกสารหรือไม่สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำเนาหนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมหนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 ซึ่งโจทก์ส่งศาลในวันพิจารณามีข้อความอย่างเดียวกันกับสำเนาเอกสารที่แนบมาท้ายฟ้องหมายเลข 1 ถึง 6 เมื่อจำเลยทั้งสามได้รับสำเนาคำฟ้องพร้อมกับสำเนาเอกสารท้ายฟ้องแล้วก็เป็นการถูกต้องตามความประสงค์ของบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแม้โจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามอีกศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นนั้นได้ในเมื่อเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share