คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจำนองที่ดินไว้ต่อผู้ร้อง ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ ผู้ร้องร้อยละ 15 ต่อปี การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 นั้นก็คือการฟ้องขอบังคับจำนองนั่นเอง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1) ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ยด้วย โดยในส่วนดอกเบี้ยนั้น ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สู่กว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เมื่อตามสัญญาจำนองจำเลยยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องร้อยละ 15 ต่อปีผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ในดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่ละคนเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 10,164,005 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,050,427 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2527ซึ่งเป็นวันละเมิดจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์จึงขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 805 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูนพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เพื่อขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดไว้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 4,868,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่น
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 2,300,000 บาทกับยอมให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ผู้ร้องจึงเรียกให้ชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองได้เพียงเท่าที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามส่วนเท่านั้น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้ร้องในวงเงิน 2,300,000 บาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นเป็นเงิน2,300,000 บาท ส่วนหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อผู้ร้องนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองเป็นหนี้สามัญ ผู้ร้องจะนำมารวมขอรับชำระไม่ได้ มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองจำนวน 2,300,000 บาทก่อนเจ้าหนี้อื่น
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นเป็นเงิน 2,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2534 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 2,300,000 บาทนับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้หรือได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ เห็นว่านายประสิทธิ์ พรินทร์ พยานผู้ร้องเบิกความว่า จำเลยที่ 3ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 805 ตำบลในเมือง อำเภอลำพูนจังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วและจะมีต่อไปในภายหน้าไว้ต่อผู้ร้องเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของนางสมนา รชตะไพโรจน์ เป็นเงิน 2,300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ประกอบกับคำแถลงคัดค้านของโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ 2,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงิน2,300,000 บาท จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่805 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ต่อผู้ร้อง ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องร้อยละ 15ต่อปี และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 นั้นก็คือการฟ้องขอบังคับจำนองนั่นเอง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1) ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ยด้วยโดยในส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อหนี้จำนองเป็นหนี้เงินจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งกล่าวคือเมื่อถึงกำหนดที่จะต้องชำระหนี้จำนองลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ก็ต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัด ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่มีข้อยกเว้นว่าถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น คดีนี้เมื่อตามสัญญาจำนองจำเลยที่ 3 ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องร้อยละ 15ต่อปี ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆในดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งเป็นวันที่นางสมนาผิดนัดชำระดอกเบี้ยไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่ละคนเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2534 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน2,300,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่ละคนเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share